ปิดดีลมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช 17 ตอน ค่างานลด 6.7 พันล้าน

20 ส.ค. 2564 | 05:29 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2564 | 12:51 น.

ทล.เปิด 4 สาเหตุปรับแบบมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช 17 ตอน หลังคณะกรรมการฯไฟเขียวปรับแบบก่อสร้าง ยันมีความเหมาะสม เผยค่างานลดลงอยู่ที่ 6.7 พันล้าน ชงคมนาคมไฟเขียว ส.ค.นี้ ลุยถก BGSR ลงนามสัญญา O&M ก.ย.64 เร่งงานระบบด่านสีคิ้ว-ขามทะเลสอ เชื่อมเลี่ยงเมืองโคราช แก้รถติด

ที่ผ่านมากรมทางหลวง (ทล.) ได้เร่งรัดการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา แต่กลับติดปัญหาเรื่องการปรับแบบการก่อสร้างทั้งหมด 17 ตอน ส่งผลให้ค่างานก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 6,700 ล้านบาท ทำให้มีความจำเป็นต้องสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงเรื่องดังกล่าวต่อไป

 

 

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 84,600 ล้านบาท ที่ติดปัญหาการปรับรูปแบบการก่อสร้างจำนวน 17 ตอน จากทั้งหมด 40 ตอน ทำให้ต้องใช้วงเงินงบประมาณเพิ่มเติมไม่เกิน 6,700 ล้านบาท ขณะเดียวกันที่ผ่านมากรมได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมด 17 คณะ เพื่อพิจารณาการปรับแบบทั้ง 17 ตอนแล้วเสร็จ ประกอบด้วย อาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ สภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ปัจจุบันได้ข้อสรุปแล้วโดยคณะกรรมการมีมติเห็นชอบว่า รูปแบบที่กรมฯขอเสนอการปรับแบบนั้นมีความเหมาะสม ตามสภาพการก่อสร้างในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

 

 

สำหรับสาเหตุในการปรับแบบทั้ง 17 ตอน มาจาก 4 สาเหตุหลัก ประกอบด้วย 1.การออกแบบการก่อสร้างในปี 2551 พบว่าสภาพภายในพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไป 2.การสำรวจพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้าง พบว่าสภาพทางธรณีวิทยาของชั้นโครงสร้างทางดินมีการอ่อนตัว โดยเฉพาะพื้นที่ที่ผ่านทางเชิงราบของเขาที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้กรมฯต้องดำเนินการก่อสร้างในรูปแบบสะพานแทนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพธรณีวิทยาในปัจจุบัน 3.ข้อจำกัดของพื้นที่ในโครงการฯ จำเป็นต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของเจ้าของพื้นที่ในบริเวณนั้นๆ เนื่องจากโครงการฯ เป็นเส้นทางใหม่ทั้งหมด เช่น การออกแบบบริเวณคลองชลประทานในปี 2551 ต้องสูงจากผิวคลองราว 3 เมตร แต่เมื่อดูข้อกำหนดเงื่อนไขพบว่าต้องสูงจากผิวคลองราว 4 เมตร ทำให้การก่อสร้างสะพานมีความยาวเพิ่มขึ้น รวมทั้งเส้นทางที่ผ่านเรือนจำคลองไผ่ มีข้อกำหนดว่าหากเส้นทางมีระยะทางห่างไม่เกิน 200 เมตร จำเป็นต้องสร้างแนวรั้วกั้น เพื่อป้องกันคนส่งของเข้าไปในเรือนจำฯ และ 4.การก่อสร้างโครงการฯ ผ่านพื้นที่ชุมชน  ทำให้กรมฯต้องดำเนินการก่อสร้างทางลอด รวมทั้งที่ผ่านมาการทำประชาพิจารณ์ ทางชาวบ้านมีการร้องเรียนให้ทำถนนภายในชุมชน (Service Road) ส่งผลให้ค่างานก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยออกแบบไว้ 

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า หลังจากคณะกรรมการฯตรวจสอบแล้วเสร็จ กรมฯอยู่ระหว่างรอหนังสือการหารือจากกรมบัญชีกลางถึงการดำเนินการก่อสร้างทั้ง 17 ตอน เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย หลังจากนั้นกรมฯจะสรุปรายงานถึงเหตุผลความจำเป็นในการปรับแบบการก่อสร้างโครงการฯ เพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือนสิงหาคมนี้ และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนกันยายน 2564 เพื่ออนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติม

 

 

นอกจากนี้วงเงินงบประมาณเพิ่มเติมของโครงการฯลดลง อยู่ที่ 6,700 ล้านบาท จากเดิมที่พบว่าค่างานก่อสร้างเพิ่มขึ้น ราว 6,800 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2562 กรมฯได้เสนอของบประมาณเพิ่มเติม 6,800 ล้านบาท แต่เมื่อดูตามข้อเท็จจริงในการปรับแบบการก่อสร้างนั้นพบว่าบางส่วนสามารถปรับแบบเพื่อประหยัดค่างานก่อสร้างได้ ซึ่งในปี 2562 งานบางตอนยังดำเนินการก่อสร้างไม่เสร็จ ทำให้มีการบริหารงานเพิ่มเติมบางส่วน โดยใช้การบริหารสัญญา รวมทั้งที่ผ่านมาโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา กรมฯได้ตั้งงบประมาณค่างานโยธา ราว 70,000 ล้านบาท โดยในปี 2558 ที่มีการประกวดราคาพบว่าเอกชนได้เสนอราคาราว 60,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินต่ำกว่ากรอบวงเงินที่เคยเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ราว 10,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผน 6 เดือน เนื่องจากติดปัญหากรณีที่คณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จครบทุกตอนภายในเดือนพฤษภาคมปี 2566

 

“ปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างโครงการฯ อยู่ที่ 93% จำนวน 40 ตอน กรมฯได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 22 ตอน และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 ตอน และอยู่ระหว่างการปรับแบบ 17 ตอน หากงานโยธาบริเวณใดแล้วเสร็จ กรมฯจะดำเนินการเปิดให้บริการก่อนในช่วงเทศกาลต่างๆ และช่วงที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น โดยที่ผ่านมาได้มีการเปิดใช้เส้นทางช่วง ปากช่อง-สีคิ้ว ระยะทาง 36 กิโลเมตร (กม.) ชั่วคราวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่าเสียงตอบรับค่อนข้างดี”

นายสราวุธ  กล่าวต่อว่า  ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา M6 นั้น เบื้องต้นกรมได้มีการหารือถึงการส่งมอบพื้นที่ร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR) โดยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ชนะการประมูล คาดว่าจะสามารถลงนาม O&M ได้ภายในเดือนกันยายน 2564 หลังจากนั้นกรมฯจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยให้ผู้รับจ้างเข้าพื้นที่ดำเนินการในส่วนงาน O&M ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมกับงานโยธาที่กรมฯเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2566 และเปิดทดลองใช้ระบบ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบภายในปลายปี 2566


ทั้งนี้ในสัญญางาน O&M ของมอเตอร์เวย์สายดังกล่าว ระบุว่าบริเวณด่านเก็บเงินที่เป็นงานโยธานั้น กรมฯจะขอให้ผู้รับจ้างดำเนินการในส่วนของงานระบบบริเวณด่านเก็บเงินสีคิ้วและด่านขามทะเลสอโดยเชื่อมต่อกับเส้นทางบางตอนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยปัจจุบันประชาชนสามารถสัญจรได้แล้วบริเวณปากช่อง-สีคิ้ว หากผู้รับจ้างสามารถดำเนินการได้ทั้ง 2 ด่านก่อน จะทำให้การสัญจรจากบริเวณปากช่อง-สีคิ้ว สามารถวิ่งถึงบริเวณทางเลี่ยงเมืองโคราช ซึ่งเป็นปลายทางมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ได้ทันที ในระยะทางรวม 70 กิโลเมตร (กม.) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการสัญจรและแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเทศกาลต่างๆ คาดว่าปลายปี 2564 มีแนวโน้มจะเปิดให้บริการในช่วงดังกล่าวได้
 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ