กรณีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้นโยบายกรมควบคุมมลพิษ ( คพ.) แจ้งเตือนเตรียมป้องกันสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในช่วงอุทกภัย หากไม่ได้รับการป้องกันและการจัดการที่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ได้ โดยตั้งแต่ตุลาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว
ทำให้เกิดฝนตกชุกหนาแน่นในพื้นที่ภาคใต้ (ข้อมูลจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา) อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนและสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 16 จังหวัด ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันตกบางแห่งที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอุทกภัย
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันตกบางแห่งต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย โดยมีจำนวนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอุทกภัย ใน 16 จังหวัด
ได้แก่ จังหวัดกระบี่ 3 แห่ง จังหวัดชุมพร 6 แห่ง จังหวัดตรัง 9 แห่ง จังหวัดนครศรีธรรมราช 12 แห่ง จังหวัดนราธิวาส 16 แห่ง จังหวัดปัตตานี 19 แห่ง จังหวัดพังงา 3 แห่ง จังหวัดพัทลุง 7 แห่ง จังหวัดภูเก็ต 1 แห่ง จังหวัดยะลา 2 แห่ง จังหวัดระนอง 4 แห่ง จังหวัดสงขลา 11 แห่ง จังหวัดสตูล 1 แห่ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 11 แห่ง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 13 แห่ง และ จังหวัดเพชรบุรี 1 แห่ง รวมทั้งหมด 119 แห่ง
คพ. ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด 16 จังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย และการประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการรับกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนชั่วคราว
โดยต้องดำเนินการเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนก่อนเกิดเหตุ และได้จัดส่งแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยในภาวะอุทกภัย เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินการ รวมทั้งจัดทำอินโฟกราฟิกเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงแนวทางในการจัดการขยะมูลฝอยในภาวะอุทกภัย
รวมถึงให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะ และการรายงานสถานการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ผ่านสื่อ Facebook Fan page ของกรมควบคุมมลพิษอย่างต่อเนื่อง