กรณีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลองค์การที่ดี การบริหารจัดการที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและธรรมาภิบาล ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวก
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตุลาคม 2564 – กันยายน 2565) คพ. ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษ จำนวน 718 เรื่อง น้อยลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่มีจำนวน 766 เรื่อง ซึ่งพื้นที่ที่มีปัญหาได้รับการแจ้งเรื่องร้องเรียนสูงสุด คือ
กรุงเทพมหานคร 189 เรื่อง รองลงมา คือ จังหวัดสมุทรปราการ 54 เรื่อง จังหวัดสมุทรสาคร 44 เรื่อง โดยปัญหากลิ่นเหม็นยังครองอันดับมีการร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 527 เรื่อง (ร้อยละ 41) รองลงมา คือ ฝุ่นละออง/เขม่าควัน จำนวน 315 เรื่อง (ร้อยละ 24) และเสียงดัง/เสียงรบกวน จำนวน 215 เรื่อง (ร้อยละ 17)
เมื่อพิจารณาแหล่งที่มาของปัญหามลพิษที่ได้รับการแจ้งเรื่องร้องเรียน พบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 41 รองลงมา คือ สถานประกอบการ ร้อยละ 33
สำหรับสถิติช่องทางในการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษที่มีการใช้บริการสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ โทรศัพท์ ร้อยละ 39 เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ ร้อยละ 26 และแฟนเพจกรมควบคุมมลพิษ ร้อยละ 21 ตามลำดับ
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า คพ.ได้ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลองค์การที่ดี การบริหารจัดการที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและธรรมาภิบาล ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ อันจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ
จึงได้มีการสำรวจความพึงพอใจของผู้ร้องเรียนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คพ. จำนวน 2 กรณี คือ 1.กรณีการรับแจ้งและประสานงาน ได้แก่ ความพร้อมให้บริการ การให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ และการติดตามและแจ้งผลดำเนินงานให้ทราบ และ 2.
กรณี คพ.ตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้แก่ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และความเอาใจใส่ในการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยใช้วิธีการส่ง SMS พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจ คิดเป็นร้อยละ 80.20 อยู่ในระดับพอใจมาก
ที่ผ่านมา คพ. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม(ศปก.พล.) เพื่อดำเนินการเชิงรุกในการติดตามตรวจสอบแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ
โดยประชาชนสามารถร้องเรียนผ่านช่องทางโทรศัพท์ สายด่วน 1650 หรือ 02-298-2222, 0 2298 2548 ทางเว็บไซต์ www.pcd.go.th และแฟนเพจกรมควบคุมมลพิษ นายปิ่นสักก์ กล่าว