ข่าวดีสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ยังคงมีต่อเนื่อง เมื่อล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมเรื่องการปรับเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพซึ่งเป็นไปตามที่ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอเรื่องมาซึ่งหลังจากที่สอบถามแล้วทราบว่า ไม่ต้องของบประมาณกลางเพราะเป็นงบบริหารจัดการในกระทรวงฯ จึงได้ให้เดินหน้าเรื่องนี้ได้ทันที
ความคืบหน้าล่าสุด นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง การปรับเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ว่า จากการประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2565 โดย นพ.โอภาส ได้แต่งตั้งมอบหมายให้ตนเป็นประธานนั้น มีวาระการพิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ ฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นการปรับค่าตอบแทนและเงินเพิ่มเติมพิเศษของบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล สถานีอนามัย และหน่วยบริการสาธารณสุขในทุกวิชาชีพนั้นได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว
โดยการพิจารณาได้คำนึงถึงสถานการณ์การเงินการคลังและรายรับรายจ่ายของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับข้อเสนอแนวทางการเพิ่มค่าตอบแทน และการคาดการณ์สถานการณ์หลังเพิ่มค่าตอบแทน ซึ่งจากข้อมูลพบว่า รายได้รวมของกระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่ มาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยข้อมูลปี 2560 - 2566 พบมีรายรับภาพรวมโดยเฉลี่ยสูงกว่ารายจ่ายโดยตลอด เช่น ปี 2566 มีรายได้รวมเท่ากับ 396,029 ล้านบาท และมีรายจ่ายเท่ากับ 339,609 ล้านบาท
สำหรับข้อเสนอปรับค่าตอบแทนนั้นโดยหลักการ คือ ปรับอัตราค่าตอบแทนการปฏิบัติงานลักษณะเป็นเวรหรือเป็นผลัด (OT) ขึ้นร้อยละ 8 และเมื่อได้ปฏิบัติงานเฉพาะผลัดบ่ายหรือผลัดดึก เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการในเวลาราชการปกติ ไม่ใช่กรณีปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ โดยปรับขึ้นร้อยละ 50 จึงมีการเสนอปรับค่าตอบแทนแต่ละวิชาชีพ ดังนี้
1.แพทย์ ทันตแพทย์
2.เภสัชกร
3.นักวิทยาศาสตร์ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการทางด้านสาธารณสุข
4.พยาบาลผลัดบ่าย / ผลัดดึก
5.พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเทคนิค
6.พยาบาลเทคนิค ผลัดบ่าย/ผลัดดึก
7.เจ้าหน้าที่พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่เทคนิค
8.เจ้าหน้าที่พยาบาล ผลัดบ่าย/ผลัดดึก
9.เจ้าหน้าที่อื่นๆ ตามวุฒิ
10.ลูกจ้างตำแหน่งอื่น ๆ
ทั้งนี้ บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีการเพิ่มค่าตอบแทนหรือปรับค่าตอบแทน นับตั้งแต่ปี 2555 สำหรับการเพิ่มค่าตอบแทนในบุคลากรในครั้งนี้ ต้องใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาทซึ่งด้านการเงินการคลังมีเงินชดเชยในส่วนดังกล่าวได้ ซึ่งหลังจากมีมติผ่านคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ และต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ของกระทรวง คาดว่า ใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน และจะมีการส่งข้อมูลให้กับกรมบัญชีกลางในการพิจารณาเพื่อออกประกาศและดำเนินการให้กับบุคลากรต่อไป