‘วังจันทร์วัลเลย์’ เมืองนวัตกรรม พลิกโฉมเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน

28 พ.ย. 2565 | 06:05 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2565 | 13:15 น.

เปิดสำนักงานใหญ่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ดัน “วังจันทร์วัลเลย์”สู่เมืองนวัตกรรม พลิกโฉมประเทศสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต New S Curve สร้างเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน

ศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก นั้นตั้งอยู่ที่ ซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ขณะที่หลายประเทศพยายามสร้างเมืองเทคโนโลยีและนวัตกรรมขึ้นมา เพื่อดึงดูดนักลงทุนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย เรากำลังก้าวเข้าสู่เปลี่ยน แปลงครั้งสำคัญ ที่ก่อให้เกิดโอกาสทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีครั้งใหญ่

 

ภายใต้โครงการวังจันทร์วัลเลย์ ที่ เกิดจากความร่วมมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อวางแผนพัฒนาและบริหารพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ขึ้นเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ถ้าจะเรียกง่ายๆ ก็คือ เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้องค์กรทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงสตาร์ทอัพ เข้ามาลงทุน และพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยล่าสุดได้เปิดสำนักงานใหญ่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อย่างเป็นทางการ

‘วังจันทร์วัลเลย์’ เมืองนวัตกรรม พลิกโฉมเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน

โครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ตั้งอยู่ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง มีพื้นที่รวม 3,454 ไร่ ออกแบบโดยนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ซึ่งได้รับการรับรอง จาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) (Smart Environment, Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy) เข้ามาใช้ในการออกแบบพัฒนา มีเป้าหมายที่จะผลักดันพัฒนาผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เพื่อเป็นกลไกในพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. ที่ต้องการจะขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต (Powering Life with Future Energy and Beyond)

 

โครงการวังจันทร์วัลเลย์ จะแบ่งออกเป็น 3 โซนใหญ่ ได้แก่ Education Zone พื้นที่เพื่อการเรียนรู้, Innovation Zone พื้นที่สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ, และ Community Zone พื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยและสันทนาการที่ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ามาใช้งานได้ สำหรับนักลงทุนที่สนใจมาร่วมใช้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 13 ปี, ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ, ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ร้อยละ 17 ซึ่งตํ่าที่สุดในเอเชีย และสิทธิพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย

พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ที่แห่งนี้เปรียบได้กับเมืองขนาดย่อมๆ ที่มีโครงสร้างพื้นที่ฐานพร้อมสำหรับบริษัทแห่งเทคโนโลยีโดยเฉพาะ โดยวังจันทร์วัลเลย์จะมีบริการสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ต้องการเข้าใช้พื้นที่เพื่อประกอบธุรกิจ ด้วยบริการ 2 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

 

กลุ่มแรก คือ บริการด้านสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) ที่มีภายในวังจันทร์วัลเลย์ ได้แก่ 1) บริการพื้นที่ให้เช่าใน Innovation Zone เพื่อรองรับการจัดตั้งสำนักงานต่างๆ รวมถึงศูนย์นวัตกรรมหรือสถานที่เพื่อการวิจัยและพัฒนาด้วย นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งรวมนักวิจัยชั้นนำมากมายจาก สวทช., ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center), และพันธมิตรอื่น ซึ่งสามารถเป็นบุคลากรสำคัญให้กับบริษัทที่อยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ได้ในอนาคต

 

2) บริการ Smart Infrastructure Solution โครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะที่ตอบโจทย์การสร้างสรรค์เทคโนโลยี จากพันธมิตรที่ร่วมพัฒนาโครงการวังจันทร์วัลเลย์ บริการในกลุ่มนี้ประกอบด้วย บริการด้านพลังงานหมุนเวียน, บริการด้านระบบไฟฟ้า Smart Grid, บริการด้านพลังงาน Energy Storage (ESS) จาก GPSC, ระบบบริหารจัดการ นํ้า จาก EAST WATER และระบบบริหารจัดการนํ้าเสีย จาก WHAUP

 

3) บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับบุคลากรและครอบครัวจำนวนมากที่จะเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เช่น ที่อยู่อาศัย พื้นที่ค้าปลีก ร้านค้าชุมชน โรงเรียนนานาชาติ ฯลฯ โดยประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าใช้บริการได้

 

บริการกลุ่มที่สอง บริการด้านนวัตกรรม (Innovation Services) เพื่อให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนใช้ สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1) บริการประสานงานทางด้านธุรกิจนวัตกรรมใน Innovation Ecosystem ของโครงการ เป็นการแบ่งปันข้อมูลการวิจัยและพัฒนา หรือหาความร่วมมือทางธุรกิจต่างๆ ให้สามารถต่อยอดไปได้ไกลขึ้น

 

2) บริการโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม (R&D and Innovation Development Service) การพัฒนาเทคโนโลยีให้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดนั้นจำเป็นต้องอาศัยทั้งวัตถุดิบและบุคลากรที่มีความรู้จำนวนมาก ซึ่งภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์มีพันธมิตรที่มีพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีขั้นสูง โรงงานต้นแบบ ห้องทดลอง ศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์จัดแสดง ไว้คอยให้บริการแก่ทุกธุรกิจอยู่เสมอ

 

3) บริการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยี Automation Robotics and Intelligence Systems นั่นคือระบบ หุ่นยนต์อัตโนมัติและระบบอัจฉริยะต่างๆ ในตอนนี้มีตัวอย่างผู้ให้บริการในพื้นที่ ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ เช่น ระบบการแปลภาษา เทคโนโลยีทางการแพทย์, บริการ SMC Lab จาก สวทช. ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการนำเทคโนโลยี AI ยกระดับธุรกิจ เช่น ระบบการผลิตอัจฉริยะ ระบบเกษตรอัจฉริยะ และระบบ High Performance Computing

 

4) บริการพัฒนาบุคลากร อาจกล่าวได้ว่าทรัพยากรคนคือสิ่งสำคัญมากสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์จึงมีบริการพัฒนาบุคลากรจากสถาบันวิทยสิริเมธี ที่สร้างบัณฑิตระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม นอกจากนี้ทาง ปตท. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดให้มีบริการหลักสูตรการเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อต่อยอดทักษะเดิม และถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ที่สนใจในอนาคต

 

5) พื้นที่ทดสอบทดลองอากาศ ยานไร้คนขับ (UAV Regulatory Sandbox) ปัจจุบันโครงการได้ร่วมมือกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) พัฒนาให้เป็นพื้นที่ทดสอบ ทดลองอากาศยานไร้คนขับแห่งแรกของประเทศ

 

6) บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม อย่างสัญญาณเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมทั้งโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากบางเทคโนโลยีจำเป็นต้องอาศัยอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

 

7) บริการพื้นที่ทดสอบทดลองยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle) ที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้

 

โดยนายสุรชัย เหล่าพูลสุข ผู้อำนวยการโครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (วังจันทร์วัลเลย์) กล่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ปตท. GPSC สวทช. และ VISTEC ซึ่งมุ่งเน้นหารือการบูรณาการโมเดลเศรษฐกิจ BCG กับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจของประเทศสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ไทยต้องการขับเคลื่อนในกรอบความร่วมมือ APEC

 

ปตท. ดำเนินงานและพัฒนาวังจันทร์วัลเลย์ ภายใต้รูปแบบ Smart Natural Innovation Platform ซึ่ง 4 ใน 7 ด้านของแนวคิดเมืองอัจฉริยะแห่ง นี้ คือ Smart Environment, Energy, Smart Economy และ Smart Living เพื่อความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ สอดคล้องกับ BCG ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม