ซาอุดีอาระเบีย จ่อลงทุนในไทย ปี66 ร่วม 3 แสนล้าน

04 ธ.ค. 2565 | 07:39 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2565 | 14:46 น.

ซาอุดีอาระเบีย จ่อระดมลงทุนในไทย ปี2566 ร่วม 3 แสนล้านบาท เจาะธุรกิจท่องเที่ยว เมดิคัล น้ำมัน ปิโตรเคมี พร้อมมั่นใจนโยบายสร้างไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อีวีในภูมิภาคอาเซียนสำเร็จแน่นอน

นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)หรือ อีอีซี  เผยผลการหารือร่วมกับทางรัฐบาลและภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบีย ว่าในปี 2566 ปีเดียว จะมีการลงทุนขนาดใหญ่จากซาอุดีอาระเบียมายังประเทศไทยสูงถึง 300,000 ล้านบาท

 

โดยแจ้งว่า มีความประสงค์จะลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเมดิคัล แคร์ อุตสาหกรรมน้ำมัน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายส่วนใหญ่ของซาอุดีอาระเบียอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

 

ก่อนหน้านี้อีอีซีเคยเสนอว่าจะช่วยดึงการลงทุนของประเทศ จากเป้าหมายที่ควรมีการลงทุนปีละ 600,000 ล้านบาท ทางอีอีซีจะช่วยให้มีการลงทุนในพื้นที่ให้ได้ 400,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2566 ไม่ต้องกังวลแล้ว

เพราะซาอุดีอาระเบียประเทศเดียวก็ลงทุน 300,000 ล้านบาทแล้ว และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อีอีซี

 

อย่างไรก็ตาม ทางซาอุดีอาระเบียแจ้งขอให้ธุรกิจของไทยไปลงทุนที่ประเทศซาอุดีอาระเบียบ้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัย

 

อีกทั้งตอนนี้เราสามารถมั่นใจได้แล้วว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแน่นอน เห็นได้จากการที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้เลือกไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

 

เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์สันดาปหรือรถยนต์ใช้น้ำมันอยู่แล้วปีละ 2 ล้านคัน ไทยจึงเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และมีบุคลากรด้านยานยนต์พร้อม ทำให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวมาเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วที่สุด จนคนเกิดความสนใจกันทั่วประเทศ

 

ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอยู่แล้ว ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง อย่างเช่น ญี่ปุ่น ล่าสุดค่ายโตโยต้าอยู่ระหว่างยื่นขอการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่ค่ายฮอนด้าขอทำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และมาสด้าที่หารือเพื่อทำรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนค่ายใหญ่ของจีนมาหมดแล้ว

 

ไม่ว่าจะเป็นเอ็มจี, เกรท วอ มอเตอร์ (GWM) และบีวายดี นอกจากนั้น จากการไปเยือนเยอรมนี ได้หารือกับค่าย BMW กำลังทำโมเดลแรกของรถยนต์ไฟฟ้า และจะมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในไทย ส่วนค่ายเบนซ์ก็คงมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การลงทุนใน 1-2 ปีจากนี้จะปรับเปลี่ยนการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าครึ่งหนึ่งของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด

 

ส่วนการดึงโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาในไทย ขณะนี้มีเข้ามาแล้ว ทั้งจากบริษัทข้ามชาติและจากการลงทุนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นับรวมกำลังการผลิตแล้วสร้างแบตเตอรี่ได้ 10 กิกะไบต์ หรือรองรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ 115,000 คัน และรัฐบาลจะส่งเสริมให้เกิดสถานีชาร์จให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดความสบายใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น