การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำขบวนพิเศษที่ใช้รถจักรไอน้ำ ที่เรียกกัน ว่า รถ รุ่นคุณทวด ลากตู้โดยสาร ตามวันสำคัญ ไปตามเส้นทางกรุงเทพ-อยุธยา กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพ-นครปฐม ซึ่ง 1ปี มีแค่ 6 ครั้งเท่านั้น หมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันไป
ล่าสุดวันสำคัญได้เวียนมาถึง (วันที่ 5 ธันวาคม 2565) สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยว เฉลิมพระเกียรติ เส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ
เนื่องในโอกาสวันที่ 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีผู้บริหาร พนักงาน การรถไฟฯ ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมพิธีฯ
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
รัฐบาลยังได้กำหนดให้เป็นวันชาติ วันศูนย์รวมจิตใจความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ และวันพ่อแห่งชาติ การรถไฟฯ จึงได้จัดกิจกรรม จัดเดินขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยว เฉลิมพระเกียรติ เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาสุดมิได้
ทั้งนี้ การรถไฟฯ นำหัวรถจักรไอน้ำแปซิฟิค หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลิตโดยบริษัท นิปปอน ชาร์เรียว ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาและซ่อมบำรุงอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี นำมาจัดเดินขบวนรถนำเที่ยวพิเศษใน 6 โอกาสพิเศษและวันสำคัญของทุกปี ซึ่งประกอบด้วย
สำหรับเส้นทางขบวนรถจักรไอน้ำพิเศษนำเที่ยวเส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ ขบวนที่ 903/904 จะออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 08.10 น. ถึงสถานีฉะเชิงเทราเวลา 09.50 น. นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดฉะเชิงเทราได้ตามอัธยาศัยประมาณ 6 ชั่วโมง
อาทิ กราบสักการะหลวงพ่อพระพุทธโสธร พระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ไหว้ขอพรพระพิฆเนศวัดสมานรัตนาราม เดินชม ช้อปสินค้าที่ตลาดบ้านใหม่ จากนั้นขบวนรถเที่ยวกลับออกจากสถานีฉะเชิงเทรา เวลา 16.30 น. ถึงกรุงเทพ เวลา 18.10 น.
โดยมีสถานีที่หยุดรับ - ส่งผู้โดยสาร ได้แก่ สถานีมักกะสัน คลองตัน หัวหมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นหรือลงตามสถานีดังกล่าว ขณะเดียวกันยังขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ใกล้เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา สามารถร่วมบันทึกภาพหัวรถจักรไอน้ำในเส้นทางที่ขบวนรถวิ่งผ่านได้ตลอดเส้นทาง