ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ มีพิธีเปิดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2565 หรือ “Chiang Mai Design Week 2022” อย่างเป็นทางการ โดยมีดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสํานักงานส่งเสริมเศษฐกิจสร้างสรรค์(CEA) เป็นประธานเปิดเทศกาลฯ
พร้อมด้วย นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายกองค์การ บริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นางนุสรา ยันตรโกวิท ปลัดเทศบาลนครเชียงใหม่ และดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมเศษฐกิจสร้างสรรค์ แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน ร่วมพิธีเปิด
นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2565 หรือ Chiang Mai Design Week 2022 ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 ถือว่าเป็นความร่วมมือที่ดีมาโดยตลอด ในการร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจท้องถิ่นภาคเหนือ ให้เติบโตผ่านเทศกาลที่เกิดขึ้นทั่วเมืองเชียงใหม่ ที่ตอกย้ำว่า "เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์"
ทิศทางการพัฒนาเมืองของจังหวัดเชียงใหม่นั้น มีความสอดคล้องกับแนวทางการทํางาน ของสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรร ค์เพื่อพัฒนาและยกระดับ คุณภาพชีวิตของผู้คน ชุมชน เศรษฐกิจของประเทศ โดยการจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในกุญแจสําคัญ ที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และเศรษฐกิจท้องถิ่นภาคเหนือ ให้เติบโตผ่านเทศกาลที่เกิดขึ้นทั่วเมืองเชียงใหม่
นอกจากนี้การที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเลือกให้เป็นเมืองเทศกาลโลก (World Festival and Event City) ประจำปี 2022 เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ตอกย้ำว่า “เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์” ระดับโลก และเป็นหมุดหมายสําคัญในการเดินทาง ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก” โดยเฉพาะเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ หรือ Chiang Mai Design Week เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่ทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองเทศกาลโลก
ผนวกกับนโยบายของจังหวัดเชียงใหม่ ที่พร้อมเปิดเมืองต้อนรับการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวปี 2565 คือการรักษาภาพลักษณ์เมืองให้น่าอยู่ สะอาดตา พร้อมชูความโดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ทำให้เชียงใหม่เป็น Destination ในการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
เพื่อเป็นการขานรับนโยบายภาครัฐในการเปิดประเทศ โดยหวังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดเชียงใหม่ และภูมิภาคภาคเหนือให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ถือว่าเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญที่มีส่วนช่วยในการ กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด ทั้งในแง่ของการเดินทาง การท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอย การจ้างงาน การขยายเครือข่ายของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และผลักดันศักยภาพของนักออกแบบในภูมิภาคของจังหวัดเชียงใหม่ ให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ด้วยการนำอุตสาหกรรม สร้างสรรค์รวมกับ ความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา อัตลักษณ์ล้านนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้เกิดองค์ความรู้ด้านการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย ภายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศต่อไป
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า เทศกาล งานออกแบบเชียงใหม่ นับเป็นเทศกาลฯที่มีความสําคัญมากต่อภูมิภาคภาคเหนือ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วน ได้มีโอกาสร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจระดับจังหวัด ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและสังคม โดยผ่านผลงาน และความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ และศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ
รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power ในการเสริมสร้างบทบาทความเป็นผู้นําของไทยในเวทีโลก และขยายความออกไป ผ่านความสามารถของนักสร้างสรรค์ การใช้ต้นทุนทางสังคม และวัฒนธรรม ผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการจัดเทศกาลสร้างสรรค์ต่าง ๆ ใน ประเทศไทย จึงเป็นภาพสะท้อนศักยภาพของประเทศ ไทยต่อเวทีโลกอีกด้วย”
งาน Chiang Mai Design Week หรืองานเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ปีนี้ เป็นครั้งที่ 8 ซึ่งมีการขยายความร่วมมือ ทั้งพันธมิตรและนักสร้างสรรค์ ที่เข้ามาร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และขยายพื้นที่ออกไป ไม่ใช่เฉพาะในบริเวณตัวเมืองเชียงใหม่เท่านั้น ยังขยายพื้นที่ไปที่สันกำแพงด้วย จากงานที่จัดขึ้นครั้งนี้รายได้จะเพิ่มมากกว่าปีที่แล้ว ที่มีการระบาดของโควิดด้วย ก็ยังจัดงานอย่างหลวมๆ ปีนี้เชื่อว่าจะสามารถที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีรวมทั้งการท่องเที่ยวด้วย เพราะถือว่าเป็นงานที่มีสีสันงานหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าจะมีรายได้ที่เกิดขึ้นกว่า 500 ล้านบาท
ด้านนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า อบจ.เชียงใหม่ ได้สนับสนุนในส่วนของพิธีเปิด โดยมีแนวคิดเหมือนกันในการที่จะผลักดันในเรื่องของ Creative หรือในเรื่องของหัตถกรรม เนื่องจากว่าเชียงใหม่เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ขององค์การยูเนสโก้ ตั้งแต่ปี 2560 มาแล้ว ดังนั้น ในด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เป็นอีกหนึ่งบทบาทหน้าที่ ที่ทางอบจ.เชียงใหม่ จะร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้ง CEA ในการที่ขับเคลื่อนต่อไป เพื่อที่จะสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในด้านหัตถกรรม
“การจัดเทศกาลฯ ในครั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในเขตอําเภอเมือง อําเภอสันกําแพง และพื้นที่อื่น ๆ จะเป็นการตอกย้ำให้เชียงใหม่ เป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์ (Creative City) เพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการผลิต การค้า และการบริการของธุรกิจสร้างสรรค์ของ ภูมิภาคอาเซียน (Creative Hub of ASEAN) ต่อไป”
ขณะที่ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า สำหรับปีที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ภาครัฐ และภาคเอกชน ได้มีโครงการที่ช่วยผลักดัน และส่งเสริม ให้กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วประเทศ และทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับตัวเพื่อพัฒนา และรับมือให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้เป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้มีศักยภาพ อีกทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ผ่านการสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงช่วยผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในภูมิภาคมากขึ้น
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้มีส่วนในด้านการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ นักออกแบบ ศิลปิน ช่างฝีมือ จึงได้จัดให้มีเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เพื่อเป็นเวที่ส่งเสริมศักยภาพของนักสร้างสรรค์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างเครื่อข่ายระหว่างนักสร้างรรค์ ผู้ประกอบการธุรกิจและชุมชน นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วม 132,711 คน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 485 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
สำหรับการจัดเทศกาลฯ ปีนี้ CEA ได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนในพื้นที่ผ่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของจังหวัดเชียงใหม่กว่า 5 ย่านสำคัญ เช่น ย่านนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ย่านล่ามช้าง ย่านช้างม่อย ย่านควรค่าม้า ย่านสันกำแพง และกระจายตัวทั่วเมืองเชียงใหม่ ภายใต้ธีม "Local'Rise'ation สร้างสรรค์ ท้องถิ่น เติบโต" ร่วมพลิกพื้นการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ผ่านการขับเคลื่อนทางด้านผู้คน วัฒนธรรม และพื้นที่อีกครั้ง
นอกจากนี้เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ยังได้เปิดพื้นที่ให้กลุ่มเครือข่ายต่างประเทศกว่า 9ประเทศ เข้ามามีบทบาทในการเชื่อมต่อทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมร่วมกับประเทศไทยได้แก่ รัสเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว British Council ประเทศไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และไต้หวัน เป็นต้น ให้ได้แสดงผลงานผ่านอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศ เพื่อการนำเข้า-ส่งออกในประเทศและตลาดสากลอีกด้วย