นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการ ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวใน งานสัมมนา "Go Thailand : Recession or Resurrection ถดถอย VS พลิกฟื้น" จัดโดย 'ฐานเศรษฐกิจ' วันนี้ (14 ธ.ค.) ระบุว่า รายงานของธนาคารโลกว่าด้วยเรื่องตามติดเศรษฐกิจไทย หรือ Thailand Economic Monitor ที่เพิ่งออกมาสดๆร้อนๆ ในเดือนธ.ค.นี้ คาดการณ์เศรษฐกิจไทย จะขยายตัว 3.4% ในปี 2565 และ 3.6% ในปี 2566
ตัวเลขดังกล่าว เป็นการปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลง 0.7% เมื่อเทียบกับประมาณการเดิมในรายงานฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ทั้งนี้ เป็นผลจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลก ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
ส่วนหนึ่งของเนื้อหารายงานฉบับนี้ คือ บทที่ว่าด้วย ความท้าทายในระยะยาว ซึ่งคราวนี้เป็นเรื่องนโยบายการคลังเพื่ออนาคตที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงและเท่าเทียม หรือ Fiscal Policy for an Equitable Future กล่าวถึงคำแนะนำสำหรับประเทศไทยเกี่ยวกับการใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งและลดแรงกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
ภาพรวมเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยในปี 2565 และทิศทางในปี 2566
ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอการเติบโตต่อไปอีกสู่อัตราต่ำกว่า 2% ในปี 2566 โดยมีปัจจัยฉุดรั้งต่างๆได้แก่
ทั้งนี้ คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะชะลอชัดเจนในประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป และญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จะมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราเร่งมากกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของจีน
อย่างไรก็ตามในภาพรวมของปี 2566 เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะชะลอตัวหลังจากที่มีการฟื้นตัวในระดับสูงสุดในปีนี้ (2565) อันเป็นผลจากการฟื้นตัวในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขณะที่ไทยและประเทศอื่นๆที่เศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยว จะเติบโตแรงขึ้นในปีหน้า (2566) เนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
แต่กระนั้น การเติบโตดังกล่าวก็ถือว่าแผ่วกว่าที่เคยคาดไว้เดิม เนื่องจากการส่งออกสินค้าชะลอลงและอุปสงค์ภายในประเทศก็ยังมีข้อจำกัด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินเฟ้อโลกที่ยังอยู่ในอัตราสูง หลายประเทศเผชิญเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 10 ปี ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ถีบตัวสูง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาในระบบซัพพลายเชน และแรงกดดันในฝั่งอุปสงค์
อุปสรรคที่ยังต้องฟันฝ่า
ผู้จัดการเวิลด์แบงก์ประเทศไทยฯ ย้ำว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงแผ่วบาง และส่งผลฉุดรั้งการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยกดดันจากมาตรการการเงินของหลายประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มความเข้มงวด การขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ การปรับตัวของตลาดหุ้น และอื่นๆ
เหล่านี้จะส่งผลกระทบผ่านระบบการเงินระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกันมายังประเทศไทย นอกจากนี้ ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากขึ้น คาดว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะลดลงเช่นกันในช่วงสองปีข้างหน้า แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับราคาในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และนั่นก็จะเป็นความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจไทยด้วย เรียกได้ว่าปีหน้า (2566) ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
เกี่ยวกับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 นั้น จะมีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของเวิลด์แบงก์ (World Bank Economic Prospects) ที่มีกำหนดเผยแพร่ในวันที่ 10 ม.ค.ปีหน้า
เศรษฐกิจไทยโชว์ความสามารถในการฟื้นตัว
เศรษฐกิจไทยแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจในไตรมาส3/2565 สามารถขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคหลังจากเปิดประเทศในเดือนพฤษภาคม และมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านค่าครองชีพ
ตัวเลขนักท่องเที่ยวในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ขยับขึ้นมาแตะ 45% ของระดับที่เคยทำได้ช่วงก่อนเกิดโควิด ทั้งยังมากกว่าเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังถือว่าช้าหากเทียบกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนด้วยกัน นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดการณ์ว่า การส่งออกจะหดตัว 2.1% ในปี 2566 จากปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 8.1% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่ลดลงจากประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ จีน ยูโรโซน และสหรัฐอเมริกา
หลังจากการระบาดของโควิด ไทยใช้นโยบายการคลังเชิงรุกแก้ไขปัญหาในการช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้ดี ทั้งยังช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านค่าครองชีพให้กับประชาชนท่ามกลางบริบทของเงินเฟ้อที่ทะยานสูงขึ้นเช่นเดียวกับต้นทุนการใช้จ่าย การใช้จ่ายภาครัฐของไทยยังอยู่ในระดับสูง คิดเป็นสัดส่วน 23.4% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2565 ดังนั้น จึงประเมินสถานการณ์ว่า อัตราการว่างงานและความยากจนของไทยจะปรับลดลง
แต่สิ่งที่น่าวิตกคือ หนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง คือมีสัดส่วนเหนือระดับ 90% ของจีดีพี (ข้อมูล ณ ไตรมาส1/2565) ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจเอกชนคิดเป็นสัดส่วน 87% ของจีดีพี ซึ่งตัวเลขทั้งสองนับว่าสูงกว่าประเทศใหญ่ๆในอาเซียน สภาวะเช่นนี้อาจทำให้ไทยได้รับแรงกระแทกจากมาตรการคุมเข้มทางการเงินมากเป็นพิเศษ
ดังนั้น ในช่วงสองปีข้างหน้า (2566-2567) จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการทดสอบความสามารถในการฟื้นตัวสู่ภาวะปกติของประเทศไทย โดยเฉพาะในปี 2566 ไทยต้องพร้อมรับมือกับการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ (ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดประเทศ) ที่จะค่อยๆแผ่วลง ขณะเดียวกัน ไทยต้องพร้อมเผชิญผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นและคาดว่าจะยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ด้วย
ข้อเสนอแนะ ฝ่าปัจจัยเสี่ยงปี 66
ผจก.เวิลด์แบงก์ประเทศไทยแนะนำว่า จากปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าไทยจะต้องเผชิญในปี 2566 ดังนั้น ในระยะยาว นโยบายของไทยควรมุ่งเน้นที่การสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ ซึ่งสามารถจะทำได้ ดังนี้
นอกจากนี้ เนื่องจากไทยกำลังอยู่ในระหว่างการปรับเลื่อนสถานะสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงหลังจากผ่านพ้นวิกฤติโควิด ดังนั้น ไทยควรเตรียมความพร้อมด้านนโยบายการคลังเพื่อการใช้จ่ายเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น และเพื่อเป็น “กันชนทางการคลัง” (fiscal buffers) หากมีแรงกระแทกในอนาคตจากปัจจัยภายนอก
และสุดท้ายที่ควรทำคือ รัฐบาลไทยควรจะมุ่งเน้นใช้จ่ายงบเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือทางสังคม โดยให้ใช้จ่ายแบบมีเป้าหมายเฉพาะ (targeted social assistance spending) เพราะจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ทั้งยังช่วยลดผลกระทบเชิงลบที่เพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่พุ่งสูงและมีแนวโน้มยืดเยื้อ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ นโยบายการคลังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวสู่สภาวะปกติของไทย ก่อนการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ไทยสามารถสร้างความคืบหน้าในด้านการลดอัตราความยากจนได้ดี ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านรายได้แม้จะลดลงแต่ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้นั้น จะส่งผลกระทบต่อการเสริมสร้างทุนมนุษย์ และอาจฉุดรั้งการเติบโตอย่างยั่งยืนของไทยและเป็นอุปสรรคต่อการลดความยากจน