ม.หอการค้าฯชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยส่งผลดีต่อศก.ไทยระยะยาว

15 ธ.ค. 2565 | 07:22 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2565 | 14:28 น.

ม.หอการค้าฯชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว  เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพ สหรัฐฯคุมเงินเฟ้ออยู่ มั่นใจเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ดีในปี2567

นาย ธนวรรธน์ พลวิชัย    อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” กรณีที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปิดการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2565 (13-14 ธ.ค.) ด้วยการมีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดของสหรัฐในรอบ 15 ปี หรือตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2550 หลังเข้าสู่ปี 2565 ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0%

 

นาย ธนวรรธน์ พลวิชัย    อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

 

โดยวัตถุประสงค์ของเฟดมุ่ง ต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อ ที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด มองได้ 2มุมคือ เฟคขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางทุกประเทศต้องทำในกรณีที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมาก เพราะการที่เงินเฟ้อปรับตัวรุนแรงทำให้คนไม่เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ

เพราะระบบเศรษฐกิจมีอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรงจะทำให้เศรษฐกิจนั้นมีความวุ่นวาย ประชาชนจะแห่ไปตุนสินค้าทำให้สินค้ายิ่งมีราคาสูง ดังนั้นการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยทำให้เห็นภาพว่าต้องทำเพื่อคุมเงินเฟ้อให้ได้และก็ทำได้เพระเงินเฟ้อสหรัฐฯค่อยๆปรับตัวลดลง

ดังนั้นมองได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาวซึ่งถ้าเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพในระยะยาว สหรัฐฯคุมเงินเฟ้ออยู่ โลกจะฟื้นตัวได้ดีในปี2567ซึ่งจะเป็นอานิสงส์ของไทยในการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว

ส่วนในระยะสั้น การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย0.50% เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เพราะเฟดขึ้นดอกเบี้ย0.75% ต่อเนื่องกันมา 3 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น4% การที่เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย0.50%สะท้อนว่าเฟดเองก็คุ้มเงินเฟ้อไว้ได้ดีระดับหนึ่งและอัตราเงินเหฟ้อมีแนวโน้มลดลงและดัชนีผู้ผลิตที่เป็นต้นเรื่องของเงินเฟ้อก็ลดลงเช่นกัน แสดงว่าเฟดคุมเงินเฟ้อได้และการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ก็ไม่ได้รุนแรงซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด

“การที่เฟดออกมาบอกว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ดอกเบี้ยตรึงไปถึงปลายปีแสดงว่าเฟดเองก็มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและตลาดก็คาดการณ์ว่าเฟดก็ควรขึ้นดอกเบี้ยนับจากนี้จาก4.5%ไปอีกจนถึง5-5.5%ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ได้สูงมากเกินไปและตลาดก็คาดไว้แล้วว่าเฟดจะขึ้น0.50%หรือ0.25%เป็นท่าที่ที่ผ่อนคลายลงและเป็นเหตุผลทำให้ราคาน้ำมันเริ่มดีดกลับมาเพราะทั่วโลกเชื่อว่ากำลังซื้อของโลกไม่น่าจะทรุดหนักจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด”

ดังนั้นในระยะสั้นนี้เศรษฐกิจโลกไม่ควรทรุดตัวลงเนื่องจากเงินเฟ้อคุมอยู่และจะเป็นประโยชน์ต่อไทย เช่นถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ทรุดตัวหนักส่งออกไทยปีหน้าจะขยายตัวเป็นบวกที่1-2%  และสมมุติว่าดอกเบี้ยไม่สูงและเงินเฟ้อสามารถคุมได้อยู่เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ดี นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาไทยมากขึ้นจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย และแรงกดดันของการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติก็จะไม่สูงเพราะแบงก์ชาติเองก็มีพื้นที่ในการคุมดอกเบี้นที่0.75-1% ก็จะเป็นอานิสงส์ของการฟื้นตัวของเอสเอ็มอี และธุรกิจทั่วไป รวมถึงประชาชนที่จะทำเรื่องกู้เงินซื้อบ้านซื้อรถยนต์หรือรูดบัตรซื้อสินค้า