วันนี้(18 ธ.ค.65) นายอุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลัง และหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปี 2565 ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมคิดกันว่าประเทศไทยจะเดินต่ออย่างไร ในปี 2566 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายของประเทศในหลายมิติ
การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) เป็นเรื่องที่ผมจะขอหยิบยกแสดงความคิดเห็นเนื่องจาก FDI มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากจะเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้ว FDI ยังมีความจำเป็นเพื่อเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรอบตัวเรา
โดยผ่านการพัฒนาบุคลากร ยกระดับเทคโนโลยี การสร้างพันธมิตรในเวทีนานาชาติ เพื่อจับจองขยายพื้นที่ของผู้ประกอบการไทยในห่วงโซ่การผลิตโลก โดยใช้โอกาสสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ยกระดับเครื่องยนต์เศรษฐกิจเดิม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มและรักษาขีดความสามารถการแข่งขันและความเชื่อมั่นของไทยในเวทีโลก
fDi intelligence รายงานตัวเลข FDI ประเทศในกลุ่มอาเซียนบวก 3 (อาเซียน บวก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ช่วงครึ่งแรกของปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนอยู่ในอันดับที่ 9 จากทั้งหมด 11 ประเทศ เหนือกว่าประเทศกัมพูชา และเมียนมาร์เท่านั้น
ประเทศสิงคโปร์นำเป็นอันดับหนึ่งทิ้งห่างไทย 8 เท่าตัว ขณะที่มาเลเซียห่างไทย 4 เท่าตัว และเวียดนามที่เคยตามหลังเราก็มีมูลค่าลงทุนมากกว่าเรา 3 เท่าตัว ( https://shorturl.asia/IWPum ) รายงานดังกล่าวถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่เตือนว่า FDI ไทยกำลังเผชิญสภาพสุ่มเสี่ยงในเวทีภูมิภาคและเวทีโลกหากเราต้องการรักษาบทบาททางการค้าการลงทุนของประเทศให้ได้
ความก้าวหน้าของประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ผลดีต่อเนื่อง น่าจะสืบเนื่องจากการนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตอบโจทย์นักลงทุนที่แสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกหลังโควิดรอบแรก
มีองค์ประกอบหลัก อาทิ โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม โครงข่ายดิจิตัล ทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพและความพร้อมของแรงงาน และแน่นอนรวมทั้งกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจ และสิทธิประโยชน์ที่ก้าวหน้าทันสมัยสอดรับกับสภาพแวดล้อมปัจจุบัน
ผมเชื่อว่ายังไม่สายไปที่ประเทศไทยจะแข่งขันดึงดูด FDI กับประเทศอื่นๆ ด้วยนโยบายและมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เราพลาดโอกาสและหลุดจากกระแสความสนใจของนักลงทุน
ไทยยังมีศักยภาพสูงไม่เป็นรองใคร
แต่การดำเนินการจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ ไม่รอหลังการเลือกตั้ง และไม่ควรให้การเมือง โดยเฉพาะการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์ มาเป็นข้อจำกัดของรัฐบาล องคาพยพภาครัฐ ในการบริหารขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
เพราะหากยิ่งทอดเวลาออกไป ความท้าทายโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจจากนี้ไปจะทวีคูณ ทำให้ยากลำบากต่อการดูแลประชาชนให้ทั่วถึง รวมทั้งการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาได้จริงในปีหน้า และผมเชื่อว่าขณะนี้ภาคเอกชนต่างรอคอยและมีความหวังว่าจะได้สนับสนุนร่วมมือภาครัฐ ที่จะนำพาการขับเคลื่อนเชิงรุกออกเวทีโลก ให้ไทยกลับมาอยู่ในศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคจากนี้ให้ได้ครับ