“อุตตม”แจงนโยบาย“ปุ๋ยคนละครึ่ง”ระยะยาวหนุนตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ

08 พ.ย. 2565 | 06:54 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2565 | 14:00 น.

 “อุตตม”หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ขยายความนโยบาย “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ทำควบคู่ส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสม ครอบคลุมทั้งปุ๋ยทุกประเภท ทั้งเคมี อินทรีย์ และ ชีวภาพ ส่วนระยะยาวต้องมีโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ เพื่อดูแลเกษตรกรทั้งประทศ  

วันนี้ (8 พ.ย.65) นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ผมขอขยายความนโยบาย “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ที่อาจารย์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย ประกาศบนเวทีพบปะพี่น้องประชาชนที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา


หลักคิดนโยบายปุ๋ยคนละครึ่ง เริ่มต้นจากความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรที่ต้องแบกรับภาระราคาปุ๋ยเคมีแพงขึ้นถึงร้อยละ 100-130 ตั้งแต่ต้นปี ปัจจุบันราคาปุ๋ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 30-35 บาท หรือกระสอบละ 1,500-1,800 บาท (50 กก.) ซึ่งปุ๋ยคือต้นทุนหลักในการเพาะปลูกหรือราวร้อยละ 30-40 ดังนั้นหากรัฐสนับสนุนต้นทุนปุ๋ยให้ครึ่งหนึ่ง ก็เท่ากับจะช่วยให้เกษตรกรมีเงินในกระเป๋าจากการขายผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15-20  

โครงการปุ๋ยคนละครึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกรได้มากถึง 5 ล้านคน โดยอ้างอิงจากตัวเลขเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ ดังนั้นเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นในกระเป๋าเกษตรกร ก็จะถูกหมุนเวียนเป็นวงกว้างในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาพรวมประเทศต่อไป อีกทั้งโครงการลักษณะการช่วยเหลือดูแลด้านต้นทุน จะไม่ส่งผลข้างเคียงต่อคุณภาพผลผลิต เนื่องจากเป็นการกระตุ้นเกษตรกรใส่ใจด้านคุณภาพมากกว่าปริมาณ  

                            “อุตตม”แจงนโยบาย“ปุ๋ยคนละครึ่ง”ระยะยาวหนุนตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ
นอกจากนั้น โครงการนี้จะทำควบคู่กับการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้อง และใช้ในปริมาณที่เหมาะสม โดยมีระบบตรวจสอบแร่ธาตุในดินร่วมอยู่ในโครงการด้วย และไม่ได้ให้สิทธิ์เฉพาะปุ๋ยเคมี แต่จะครอบคลุมถึงปุ๋ยชนิดอื่นๆ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับการบำรุงดิน รวมทั้งเพิ่มการแข่งขันในตลาดปุ๋ย  เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร โดยปัจจุบันไทยมีบริษัทผลิตจำหน่ายปุ๋ยเคมีราว 700 ราย แต่ตลาดร้อยละ 90 อยู่ในมือรายใหญ่ราว 10 รายเท่านั้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า สาเหตุที่ปุ๋ยปรับราคาขึ้นอย่างรุนแรงนั้น เป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งคาดว่าจะไม่จบลงในระยะเวลาอันสั้นนี้ ดังนั้น ราคาปุ๋ยก็จะยังคงตัวในราคาสูงต่อไป จึงมีความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกเป็นการเฉพาะหน้า 


ขณะที่ในระยะยาว ในฐานะที่ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงควรมีนโยบายโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ เพื่อดูแลเรื่องปุ๋ยอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน

                     “อุตตม”แจงนโยบาย“ปุ๋ยคนละครึ่ง”ระยะยาวหนุนตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ