“อาเซียน”เปิดบ้านรับ “ติมอร์-เลสเต” สมาชิกใหม่ลำดับที่ 11

20 ธ.ค. 2565 | 07:33 น.

“อาเซียน”เปิดบ้านรับ “ติมอร์-เลสเต” สมาชิกใหม่ คงสถานะผู้สังเกตการณ์เตรียมจัดทำแผนกำหนดเกณฑ์เข้าเป็นสมาชิก แนะผปก.ไทยศึกษาตลาดขยายการค้าการลงทุนเพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมผู้นำอาเซียน ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการออกแถลงการณ์รับติมอร์-เลสเต ในหลักการให้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ลำดับที่ 11 ของอาเซียน ซึ่งส่งผลให้ติมอร์-เลสเต มีสถานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมต่างๆ ของอาเซียน

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

 

  สำหรับการเป็นสมาชิกอย่างเต็มตัวของติมอร์-เลสเตในอนาคต อาเซียนได้จัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อกำหนดเกณฑ์ในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ โดยในส่วนของเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียนจะต้องพิจารณาจัดทำกฎระเบียบ แนวปฏิบัติ 

และการประชุมที่ติมอร์-เลสเตจะสามารถเข้าร่วมการประชุมในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ รวมถึงแผนการดำเนินการสำหรับว่าที่สมาชิกใหม่ที่จะต้องเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าเป็นสมาชิกอย่างเต็มตัวเพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงานของอาเซียนและเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าร่วมความตกลงทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนต่างๆ ของอาเซียนในอนาคต

“การที่ติมอร์-เลสเต เข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียน ไม่เพียงเป็นการแสดงถึงการเติบโตในด้านพัฒนาการการรวมกลุ่มของอาเซียนที่มีพลวัตรอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเป็นการขยายตัวของห่วงโซ่อุปทานการเป็นฐานการผลิตของอาเซียนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสหลายด้านให้กับผู้ประกอบการไทย อาทิ ด้านการค้าสินค้าโดยเฉพาะการส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตร ด้านการลงทุนที่จะมีโครงการก่อสร้างต่างๆ ในติมอร์-เลสเต ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความชำนาญ ด้านการท่องเที่ยว ที่ติมอร์-เลสเตต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งถือเป็นสาขาที่ไทยเชี่ยวชาญ โดยผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายการค้าและการลงทุนกับติมอร์-เลสเต ควรเตรียมความพร้อมและศึกษาตลาดของติมอร์-เลสเต เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่”

ทั้งนี้ ติมอร์-เลสเต เป็นประเทศที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากมีทรัพยากรประเภทน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า ซึ่งถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนสำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค อีกทั้งประชากรอยู่ในวัยแรงงานในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ประกอบกับมีความสามารถในการสื่อสารหลายภาษา ทั้งภาษาท้องถิ่น (เตตุน) โปรตุเกส อินโดนีเซีย และอังกฤษ ทั้งนี้ คู่ค้าสำคัญของติมอร์-เลสเตในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับติมอร์-เลสเตมีมูลค่าถึง 11.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า213.35 %

สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และข้าว ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ