รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงถึงกรณีนักวิจารณ์ ได้ให้ข่าวเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยกล่าวอ้างว่าในการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และเหลืองฯ ทำให้รัฐประหยัดเงินสนับสนุนกว่าโครงการละ 1 แสนล้านบาท แต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ รัฐอาจต้องเสียเงินค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ว่า ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลซึ่งได้มาจากการใช้ดุลพินิจที่บิดเบือน ไม่เป็นกลาง และไม่พิจารณาข้อชี้แจงใดๆ ของ รฟม. สร้างความเสียหายต่อ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) เรื่อยมา
ที่ผ่านมาในการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และสายสีเหลืองฯ นั้น คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ได้อนุมัติดำเนินงานทั้ง 2 โครงการ โดยกำหนดกรอบวงเงินสนับสนุนค่างานโยธา เป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ ไม่เกิน 20,135 ล้านบาท และสายสีเหลืองฯ ไม่เกิน 22,354 ล้านบาท ซึ่งผู้ชนะการคัดเลือกได้ยื่นข้อเสนอ โดยขอเงินสนับสนุนสุทธิสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ 19,823 ล้านบาท และสายสีเหลืองฯ 22,087 ล้านบาท
ขณะที่การคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ได้อนุมัติการดำเนินงานโครงการ โดยกำหนดกรอบวงเงินสนับสนุนค่างานโยธาไม่เกิน 91,983 ล้านบาท ซึ่งผู้ชนะการคัดเลือกได้ยื่นข้อเสนอโดยขอเงินสนับสนุนสุทธิ 85,432 ล้านบาท
ส่วนการเทียบข้อเสนอของเอกชนผู้ร่วมประมูล โดยนำมาหักลบกันตรงๆ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นผลการประหยัดเงินของรัฐตามที่นักวิจารณ์ดังกล่าวกล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะในการประมูลโครงการภาครัฐนั้นมีกรอบวงเงิน มติคณะรัฐมนตรี และกฎเกณฑ์ในการดำเนินการที่กำหนดไว้ การวิเคราะห์ของนักวิจารณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการนำตัวเลขมาเปรียบเทียบในลักษณะจับแพะชนแกะเท่านั้น และยังพยายามหยิบยกตัวเลขข้อเสนอที่มิได้ผ่านการตรวจสอบและพิจารณาตามเกณฑ์การประเมิน มากดดันภาครัฐ ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าตามระเบียบขั้นตอนของการประมูลภาครัฐนั้น จะไม่สามารถนำข้อมูลของผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมประมูลมาเปรียบเทียบได้
ทั้งนี้หากพิจารณาผลต่างระหว่างข้อเสนอของเอกชนผู้ชนะการคัดเลือกและกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติจะมีผลสรุปได้ ดังนี้ กรอบวงเงินสนับสนุนตามมติ ครม.
- สายสีชมพูฯ 20,135 ล้านบาท
- สายสีเหลืองฯ 22,354 ล้านบาท
- สายสีส้มฯ 91,983 ล้านบาท
ด้านข้อเสนอการขอรับการสนับสนุนสุทธิของเอกชนผู้ชนะการคัดเลือก
- สายสีชมพูฯ 19,823 ล้านบาท
- สายสีเหลืองฯ 22,087ล้านบาท
- สายสีส้มฯ 85,432 ล้านบาท
รัฐประหยัดเงินสนับสนุน
- สายสีชมพูฯ 312ล้านบาท
- สายสีเหลืองฯ 267 ล้านบาท
- สายสีส้มฯ 6,551 ล้านบาท
“รฟม. ขอยืนยันว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนดอย่างครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาข้อเสนอแล้วเสร็จ และสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ โดย รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป”
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)