จากโอกาสดังกล่าว ภาคเอกชนตัดสินใจลงทุนโครงการต่างๆ รองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จากความต้องการจริงในพื้นที่ โดยผู้ประกอบการระดับประเทศแทบทุกแบรนด์ ลงสนามโคราชกันคึกคัก ขณะที่ทุนท้องถิ่นชำนาญ-รู้ความต้องการพื้นที่ และบางรายมีแลนด์แบงก์ในมือ งัดกลยุทธ์สู้ไม่ถอย
ปลายปี 2565 สัญญาณแข่งเดือดธุรกิจอสังหาฯโคราชเริ่มขึ้น เมื่อค่ายเซ็นทรัลพัฒนาประกาศความสำเร็จการลงทุนโดยใช้ศูนย์การค้า “เซ็นทรัลพลาซา โคราช” เป็นตัวนำ พ่วงด้วยคอนโดฯ เอสเซนต์ โคราช และโรงแรมเซ็นทารา ที่จะเป็นตัวแบบการลงทุนมิกซ์ยูสของเซ็นทรัลพัฒนาทั่วประเทศ
“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบผู้ประกอบการอสังหาฯ รายใหญ่ของโคราช พร้อมรับการแข่งขัน ชี้ตลาดปี 2566 สดใส ทั้งจากการเลือกตั้งและการท่องเที่ยว ส่งผลตลาดคึกคัก ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นอนาคต กล้าออกมาใช้เงิน ขณะที่กระแสใช้เงินสดซื้ออสังหาฯยังเติบโต จากข้อจำกัดสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ
โดยบ้าน “อยู่สบาย” ประสบความสำเร็จ 20 โครงการกว่า 4,000 ยูนิต รวมมูลค่าโครงการกว่า 10,000 ล้าน สยายปีกบุกทำเลอีกฝั่งของเมืองโคราช บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่สร้างเมืองใหม่ ขณะที่ “คลังคาซ่า” ยักษ์อสังหาฯเมืองย่าโม ลุยธุรกิจให้เช่าต่อเนื่อง ดึงพันธมิตรร่วมสร้าง New CBD ที่สมบูรณ์แบบ
นายวิวัฒน์ วัฒนสินศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท โชควิวัฒน์ พร็อพเพอตี้ จำกัด เจ้าของโครงการบ้านจัดสรรรายใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการบ้านอยู่สบาย ยึดทำเลโซน ต. หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา สร้างบ้านเดี่ยวชั้นเดียวโดยกลุ่มเป้าหมาย ลูกค้า B+ ลงมาซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ในระดับราคา 9
แสน - 2 ล้านบาท ซึ่งพนักงานทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยพัฒนาแล้วกว่า 20 โครงการ เกือบ 5,000 ยูนิต รวมมูลค่าโครงการกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเน้นคุณภาพบ้านและบริการหลังการขาย
นายวิวัฒน์กล่าวว่า บ้าน “อยู่สบาย” ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย เราสร้างชุมชนใหม่ขึ้นมาให้ประชาชนได้อาศัยอยู่อย่างมีความสุข มาซื้อบ้านเหมือนการลงทุน เมื่อเวลาผ่านไปขาย ได้ราคา กำไรแน่นอน เหมือนการลงทุนที่ทุกคนมีความสุข ทำให้เราเติบโตแข็งแกร่งมาก
“เราจะสร้างเมืองใหม่บนพื้นที่ กว่า 1,000 ไร่ ที่บึงทับช้าง-จอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งจะเป็นโครงการใหญ่ ที่สุด ได้เปิดขายบ้านแล้ว 5 โครงการ รวมกว่า 1,200 ยูนิต ซึ่งปิดการขายไปแล้วเกือบครึ่ง จะเป็นโครงการที่ทันสมัยและครบครันมากที่สุดของ “อยู่สบาย” เป็นรูบแบบใหม่ของหมู่บ้าน ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้าในยุคดิจิทัล”
นายวิวัฒน์ชี้ว่า โคราชเป็นจังหวัดใหญ่และกำลังเติบโต มีผู้ประกอบการในพื้นที่และต่างถิ่นเข้ามาร่วมแชร์ตลาดที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ยอมรับว่าการแข่งขันมีสูง จากตัวเลขการขายพบว่า เริ่มมีลูกค้าจากกรุงเทพฯ สนใจเข้ามาซื้อบ้านไว้ที่โคราชเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ถือเป็น กลุ่มที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะมองว่า การเดินทางจากกรุงเทพฯ มาโคราชใช้เวลาไม่นาน โดยเฉพาะหากการก่อสร้างมอเตอร์เวย์แล้วเสร็จ รวมถึงรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จ โคราชจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดแน่นอน
ส่วนปัจจัยลบปี 2566 ที่อาจทำให้ประสบปัญหา คือ การไม่ต่ออายุมาตรการ LTV ปัญหาการจัดเก็บภาษีหรือค่าทำเนียม ซํ้าซ้อน ที่เป็นภาระที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ สิ่งนี้ต้องระวัง
ด้านนายไพจิตร มานะศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลังคาซ่า จำกัด ผู้นำแห่งวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของ จ.นครราชสีมา และภาคอีสาน เจ้าของโครงการ “ซิตี้ ลิ้งค์” เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 ของโคราชถือว่าทรงตัว โดย “ซิตี้ ลิ้งค์” ยังคงเดินหน้าพัฒนาพื้นที่กว่า 300 ไร่ ให้เป็นเมืองใหม่ของโคราช
“ขณะนี้เราพัฒนาพื้นที่ไปแล้ว 70% ในพื้นที่มีทั้งที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียมระดับพรีเมียม โรงแรม Mayfair Market ร้านค้า ร้านอาหารครบครัน และเหลือพื้นที่อีก 50 ไร่ โดยเน้นให้เช่าเป็นหลัก กลุ่มลูกค้าของโครงการเป็นกลุ่ม A และ A+ จึงไม่มีปัญหาเรื่องการกู้เงินกับธนาคาร โดย 60-70% ลูกค้าซื้ออสังหาฯ เป็นเงินสด ฉะนั้นทางโครงการจึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ โดยยอดขายในปีนี้ใกล้เคียงจากปีที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ตามสำหรับอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดนครราชสีมา ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และปี 2566 จะเห็นความชัดเจนของรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ รวมทั้งการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มการหมุนเวียนของเงินมากยิ่งขึ้น ซึ่ง ททท.ได้แถลงตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2565 ครบ 10 ล้านคนไปแล้ว
สำหรับธุรกิจของคลังคาซ่า หลังจากปลายปี 2565 เปิดขายคอนโดฯแท่งที่ 12 คือ ตึกแอสตัน ที่ขายได้แล้ว 30% ทิศทางธุรกิจปี 2566 จะเน้นไปที่ธุรกิจให้เช่า ทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงการให้บริการห้องเช่าคอนโด การทำตลาดให้เช่า ซึ่งธุรกิจนี้ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบการทำเลของโครงการที่อยู่กลางใจเมืองโคราช เป็นทำเลทองเพียงแห่งเดียว และหาได้ยากในปัจจุบัน
“คลังคาซ่าเดินหน้าพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมุ่งสร้าง New CBD (Central Business District) หรือย่านศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่ของเมืองโคราช ขณะนี้ ถือว่าเราได้สร้างเมืองใหม่ให้กับโคราชได้ใกล้สมบูรณ์แบบแล้ว” นายไพจิตรยํ้า
ฉัตรสุรางค์ กองภา/รายงาน
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,549 วันที่ 1-4 มกราคม พ.ศ.2566