รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท
โดยระบุว่าขณะนี้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ และได้ยื่นขอพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ (สผ.) แล้ว คาดว่าจะเสนอโครงการฯ ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณาในเดือน ม.ค.-ก.พ. 66 ก่อนเสนอกระทรวง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
หากที่ประชุม ครม. เห็นชอบภายในเดือน เม.ย.-พ.ค. 66 คาดว่า รฟท. จะสามารถเริ่มกระบวนการประกวดราคา (ประมูล) และได้ผู้ชนะการประมูล พร้อมลงนามสัญญาภายในปลายปี 66 จากนั้นในปี 67 จะเริ่มงานก่อสร้าง และติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ใช้เวลา 4 ปี
โดยงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณจะสามารถเริ่มงานได้ ต้องให้งานโยธาดำเนินการผ่านไปแล้วประมาณ 2-3 ปี ซึ่งตามแผนคาดว่าโครงการฯ จะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ประมาณกลางปี 72 แต่กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้เร่งรัดดำเนินการ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 71
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นโครงการดังกล่าวมีการแบ่งสัญญาออกเป็น 13 สัญญา โดยเป็นงานโยธา 12 สัญญา และงานระบบอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา
รฟท จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรถไฟไฮสปีด เฟสที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งมีความล่าช้า มาเป็นประสบการณ์ เพื่อให้งานเฟสที่ 2 เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ไม่ล่าช้าเหมือนเฟสที่ 1 โดยสาเหตุของความล่าช้านั้น นอกจากเพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ประสิทธิภาพของผู้รับจ้างก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานล่าช้า
สังเกตได้จากบางสัญญาทำงานได้อย่างรวดเร็วขณะที่บางสัญญาสถานะของงาน คืบหน้าช้ามาก ขณะเดียวกันยังพบปัญหาการเวนคืน และผู้บุกรุก รวมถึงการประท้วง และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค
เบื้องต้นวางแผนไว้ว่า ตั้งแต่ต้นปี 66 จะให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเริ่มดำเนินการเรื่องขับไล่ผู้บุกรุก ซึ่งอยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้าง อาทิ สถานีบัวใหญ่, สถานีขอนแก่น และสถานีอุดรธานี พร้อมทั้งจะประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูปโภค
เพราะเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทำให้โครงการล่าช้ามาก โดยจะต้องดำเนินการให้จบก่อนลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลในช่วงปลายปี 66
ส่วนเรื่องการเวนคืนสำหรับโครงการฯ เฟสที่ 2 คาดว่าจะไม่มีปัญหา เพราะพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของ รฟท. โดยใช้เขตรถไฟเดิมเกือบทั้งหมด มีการเวนคืนพื้นที่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าเขา
สำหรับโครงการฯ เฟส 2 มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, จ.ขอนแก่น, จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย แนวเส้นทางตลอดระยะทาง 356 กม. แบ่งเป็น ทางรถไฟระดับพื้นดิน 185 กม. และทางรถไฟยกระดับ 171 กม. มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่, สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย
โดยมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย รวมทั้งจะก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และสถานีนาทา จ.หนองคาย ส่วนการออกแบบรางมีขนาด 1.435 เมตร โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กม. ต่อชั่วโมง (ชม.) ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ระยะทางรวม 609 กม. ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที