ปี2566 “กรณ์”เปิดฉากชูนโยบาย ยกเลิก ‘แบล็กลิสต์’

02 ม.ค. 2566 | 04:42 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2566 | 12:13 น.

ปี2566 “กรณ์”เปิดฉาก   ชูนโยบาย ยกเลิก ‘แบล็กลิสต์’ ปล่อยกู้ด้วย ‘เครดิตสกอร์’ แก้เศรษฐกิจประเทศ ต้องเริ่มจากปลดแอกประชาชน

 

 

 

 

 

การค้างชำระหนี้บัตรเครดิตไม่ตรงตามกำหนดต่อสถาบันการเงินติดต่อกันเกิน 90วัน  มีผลทำให้ เกิดแบล็คลิสต์  (Blacklist)   เมื่อมีการขอสินเชื่อใหม่จึงไม่ได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นไปตามที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือเครดิตบูโรเก็บรวบรวมและประมวลผล

 

อย่างไรก็ตาม แบล็คลิสต์ ประชาชนหลายรายอาจชำระหนี้ครบแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่ถูกปลดล็อก อีกทั้ง ภาครัฐระบุว่าเป็นเพียงข้อมูล ก็ตาม แต่ส่งผลกระทบ ฉุดเศรษฐกิจในภาพรวมเดินไปข้างหน้าล่าช้า

 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่2มกราคม 2566  ระบุถึงความทุกข์ใจของประชาชน จากการเป็นหนี้บัตรเครดิตจนต้องติดแบล็กลิสต์ ว่า โควิดและพิษของแพงทำให้การผิดนัดชำระหนี้ของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นหลักหลายล้านคน รายชื่อทุกคนเหล่านี้จะปรากฏใน ‘แบล็กลิสต์’ ที่เครดิตบูโร

 

แม้ทางการและสถาบันการเงินจะบอกว่า การติดแบล็กลิสต์เป็นเพียงข้อมูล ไม่ได้เป็นข้อตัดสินในการพิจารณาสินเชื่อ แต่ความจริง ‘ผู้ติดแบล็กลิสต์’ แทบทุกคนจะกู้ยืมในระบบไม่ได้อีกเลย


 

นายกรณ์กล่าวว่า แม้เวลานี้บูโรจะเริ่มเก็บคะแนน Credit Score แต่ก็ไม่มีอิทธิพลต่อการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเหนือแบล็กลิสต์ ‘เครดิต สกอร์’ คือระบบการจัดเกรดให้คะแนนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้แต่ละคน โดยคะแนนส่วนหนึ่งมาจากประวัติการชำระหนี้ที่กู้ยืมมา แต่ที่สำคัญ ต้องมีประวัติการชำระหนี้ประเภทอื่น ๆ ด้วย

 

เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่านํ้า ค่าไฟ ฯลฯ และ ‘Credit Score’ ที่จะมีประโยชน์สูงสุด ควรต้องรวมข้อมูลรายรับรายจ่ายในการทำมาเลี้ยงชีพด้วย เช่น หนุ่มแกร๊บวิ่งรับส่งของวันละ 10 ชั่วโมงทุกวัน ก็ควรจะได้คะแนนเพิ่ม เพราะขยันทำมาหากิน สะท้อนถึงความสามารถในการหารายได้

 

ดังนั้นระบบเครดิต สกอร์ในอนาคตจำเป็นต้องเชื่อมโยงชุดข้อมูลที่มีผลกับความสามารถในการชำระหนี้ของบุคคล (ซึ่งในวงการการเงินเรียกว่า ‘alternative data’) มาพิจารณาร่วมในการปล่อยกู้ มากกว่าใช้เพียงข้อมูลการชำระหนี้ในอดีตอย่างเดียว

ประเด็นปัญหาคือ ชุดข้อมูลจำนวนมากในกลุ่มนี้อยู่ในมือรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน ซึ่งเขาไม่เปิดให้มีการเข้าถึงได้ จึงต้องเป็นนโยบายภาครัฐที่เข้ามาปลดล็อคให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้มากขึ้น และยกเลิกการใช้ระบบแบล็กลิสต์แบบเดิม

 

“คลิปที่เพิ่งโพสต์ https://fb.watch/hNYD2Z5eiC/ ถึงเรื่องการยกเลิกแบล็กลิสต์นี้ ได้รับความสนใจอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าการเข้าถึงสินเชื่ออย่างเป็นธรรมยังเป็นปัญหาของประชาชนทั่วไป รวมไปถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กจำนวนมากชาติพัฒนากล้า จะเสนอเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญ เพราะผมเชื่อว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องเริ่มจากการปลดแอกประชาชนออกจากเงื่อนไขของระบบที่ไม่เป็นธรรมก่อน” นายกรณ์ กล่าว