รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการขยายถนนชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี โดยทช.ได้ดำเนินการก่อสร้างขยายถนนชัยพฤกษ์ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 902 ล้านบาท ปัจจุบันผลงานก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 29 ขณะนี้อยู่ระหว่างงานติดตั้งคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องหล่อสำเร็จ สะพานข้ามคลองพระอุดม งานวางท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก และงานขยายช่องจราจร คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในช่วงต้นปี 2567
“สาเหตุที่มีการขยายถนนชัยพฤกษ์ เนื่องจากในปัจจุบันถนนชัยพฤกษ์เป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร มีปริมาณจราจรสูงกว่า 40,000 คันต่อวัน เกิดจากการขยายตัวของพื้นที่จังหวัดนนทบุรีฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ถนนชัยพฤกษ์มีสภาพการจราจรที่หนาแน่นและมีแนวโน้มที่จะติดขัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับเมื่อถนนราชพฤกษ์ – ถนนกาญจนาภิเษก (แนวเหนือ – ใต้) เปิดใช้งาน ส่งผลให้ถนนชัยพฤกษ์ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่จังหวัดปทุมธานีเป็นเส้นทางที่ดึงดูดปริมาณจราจรให้เข้ามาใช้เส้นทางถนนชัยพฤกษ์เพิ่มขึ้น”
สำหรับการดำเนินงานจะแบ่งเป็นงานก่อสร้างปรับปรุงถนนคู่ขนานระดับดิน ขนาด 2 ช่องจราจร ต่อทิศทาง จากเชิงลาดสะพานพระราม 4 ถึงทางแยกต่างระดับถนนราชพฤกษ์ และงานปรับปรุงขยายผิวจราจร ขนาด 1 ช่องจราจร ต่อทิศทาง จากทางแยกต่างระดับถนนราชพฤกษ์ถึงถนนบางกรวย – ไทรน้อย รวมระยะทางทั้งหมด 6.892 กิโลเมตร พร้อมก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระอุดม, สะพานข้ามคลองบางภูมิ รวมจำนวน 4 แห่ง และงานก่อสร้างทางเท้า ระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง
ส่วนในช่วงระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ทช. ได้ทำการติดตั้งแบริเออร์และติดตั้งป้ายเตือนลดความเร็วเพื่อให้ประชาชนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึง ทช. ได้ทำการปิด – เบี่ยงช่องจราจรบริเวณทางกลับรถใต้สะพานข้ามคลองพระอุดม บนถนนชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี บริเวณ กม.ที่ 1+275 (ฝั่งขาเข้าสะพานพระราม 4) และ บริเวณ กม.ที่ 0+375 (ฝั่งขาเข้าถนนราชพฤกษ์) เพื่อดำเนินงานก่อสร้างสะพานข้ามคลองบนทางขนานถนนชัยพฤกษ์ โดยทำการปิด - เบี่ยงช่องจราจร ไปจนกว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จ
ทั้งนี้หากโครงการฯแล้วเสร็จเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของถนนชัยพฤกษ์ให้สมบูรณ์ ให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้มากขึ้น แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ช่วยแบ่งเบาการจราจรที่ต้องการเดินทางออกนอกเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วนได้อีกทางหนึ่ง ตลอดจนเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง