นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น
2. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าของไทย แม้มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงก็ตาม แต่การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี เพื่อเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่น กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น จะช่วยประคับประคองการส่งออกให้สามารถทรงตัวต่อไปได้
3.การใช้จุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบาย BCG Model (Bio-Circular-Green Model) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร ควบคู่ไปกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
4. การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง 10 จังหวัด และการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายใหม่ของ BOI ที่จะสร้าง New Economy ก็จะเป็นแรงหนุนสำคัญในด้านการลงทุนของประเทศ
5. ผลพวงจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ เช่น รถไฟฟ้า สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น จะช่วยเสริมสร้างโอกาสและเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทย
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเตรียมรับมือ ได้แก่ 1. ภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน รวมถึง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
เฉพาะอย่างยิ่งการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรม งวดมกราคม-เมษายน 2566 มาอยู่ที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย (จากเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย)ทำให้อุตสาหกรรมที่มีค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนหลักในการผลิตได้รับผลกระทบอย่างมาก อาทิ แก้วกระจก เซรามิก เหล็ก อลูมิเนียม หล่อโลหะ เคมี เยื่อและกระดาษ อาหารและเครื่องดื่ม ปูนซีเมนต์ เป็นต้น
2. ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่กดดันทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเร่งทำให้เกิดกระแส De-Globalization ขึ้น
3. ภาระหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงเป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยสถานะหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ของไทย สูงมากถึง 88.2% หรือมีมูลค่ากว่า 14.76 ล้านล้านบาท ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอลง
4. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้มีความเสี่ยงเกี่ยวกับภัยธรรมชาติมากขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรลดลง มีโอกาสเกิดเชื้อโรคใหม่ๆ และภาคอุตสาหกรรมต้องมีต้นทุนในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
5. ประเทศไทยเข้าสังคมของผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต
“ทั้งนี้ ประเด็นด้านการเมืองหลังจากการเลือกตั้งในปีหน้า จะเป็นปัจจัยใหม่ที่ต้องจับตามอง เนื่องจากจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 โดยเฉพาะนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาลที่จะเข้าส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้ก้าวเดินต่อไปในอนาคต”
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ปี 2566 เป็นปีที่ทุกคนยังต้องจับตามอง โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จากผลกระทบของสงครามและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ วิกฤติพลังงานและความเสี่ยงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป การเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญกับข้อจำกัดจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ที่ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องถึงระดับ 5% ในปี 2566 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ในทางกลับกันจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession ได้
ดังนั้นทั้งธนาคารโลก( World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) ต่างได้ปรับตัวเลขการประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ลดลง และประเมินการค้าโลกในปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จึงยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาอย่างการส่งออก อาจขยายตัวได้ในกรอบแคบๆ เพียง 1-2% เท่านั้น จากอุปสงค์สินค้าของตลาดโลกที่ชะลดตัวลง ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากค่าพลังงาน ราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่งผลทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง และอาจลดความน่าสนใจในการดึงดูดนักลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมีเครื่องยนต์ในภาคการท่องเที่ยวที่จะมาช่วยในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน (ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่งเปิดประเทศ)หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2565 ในส่วนของนักท่องเที่ยวในประเทศก็จะเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน
“เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงเป็นปีที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมให้ดีในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้าง New Economy ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน”