ปี 2566 เป็นอีกหนึ่งปีที่ภาคธุรกิจของไทยยังต้องเผชิญกับความผันผวน จากเกือบทุกสำนักพยากรณ์ทั่วโลกต่างวิเคราะห์ และฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า โลกจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และในเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ(Recession) จากอัตราเงินเฟ้อ ราคาอาหาร และพลังงานยังอยู่ในระดับสูง กระทบกำลังซื้อของประชาชนลดลง ขณะที่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อให้ตํ่าลง ซึ่งจะส่งผลให้การค้าของไทยกับประเทศข้างต้นมีแนวโน้มชะลอ สัญญาณจากการส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 ติดลบ 2 เดือนซ้อน
ขณะที่มีปัจจัยบวกจากประเทศจีน ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับอับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ได้ประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน ระหว่างไทยและจีนขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อน ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อไร้จุดจบ ยังเป็นแรงกดดันราคาอาหารและพลังงานของโลกยังผันผวน อย่างไรก็ดีจากที่โลกยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก จะส่งผลต่อเนื่องถึงภาคธุรกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะตั้งรับหรือรุกอย่างไรนั้น ซีอีโอชั้นนำของประเทศได้ชี้แนะไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อแนะนำภาคธุรกิจในการรับมือกับเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลกขาลง ขอมองเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว หรือเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและทำให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบ ได้แก่
1.การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่าย (LEAN) และบริหารสต๊อกสินค้า เพื่อลดต้นทุนการผลิต 2.บริหารความเสี่ยงทางการเงิน และมีการสำรองเงินทุนใช้ในยามฉุกเฉิน โดยจำเป็นต้องเตรียมเงินทุนหมุนเวียน ให้เหมาะสมกับแต่ละประเภทธุรกิจ เพื่อความคล่องตัวของธุรกิจ 3.นำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้ E-Commerce การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจมากขึ้น การนำข้อมูล Big data มาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบสนองความต้องการของตลาด
4.การให้ความสำคัญกับการรักษาห่วงโซ่อุปทานในการผลิต หรือ Supply Chain Security โดยมีการกระจายแหล่งวัตถุดิบเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะ Supply Chain Shortage และ 5.ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน Upskill /Reskill เพื่อเป็นการเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ต่อไป
ส่วนที่ 2 เป็นการปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ หรือสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.การลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Next-GEN Industries ปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve 2.การพัฒนาธุรกิจตามนโยบาย BCG Model โดยอาศัยจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพในการต่อยอดทางธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
3.การปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยปรับปรุงกระบวนการผลิตควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน ไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต การซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสของอุตสาหกรรมในอนาคต
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากเศรษฐกิจโลกขาลง หลังจากนี้รูปแบบการค้าจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบธุรกิจของตนเองว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับการแข่งขันในปัจจุบันอยู่หรือไม่ รวมถึงการปรับกลยุทธ์ภายในองค์กรให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์ มีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถแข่งขันและปรับตัวเข้ากับโลกปัจจุบัน
นอกจากนี้ การมองหาโอกาสด้านการค้า การลงทุนในตลาดใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ยังมีความจำเป็นเพื่อสร้างการเติบโต ส่วนนี้จะช่วยกระจายความเสี่ยงจากประเทศคู่ค้าเดิมที่ต่างมีเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ตลอดจนควรเพิ่มผลิตภาพ ผลิตสินค้าที่ตรงตามความต้องการตลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน และการใช้เครื่องมือประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
อีกประการคือการเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งกลุ่ม SMEs มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนให้สามารถแข่งขันได้ ภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ผนึกกำลังกับ TMA สร้าง Pilot Project นำร่องในปี 2566 เพื่อยกระดับ SMEs ไทย โดยได้จัดตั้ง สถาบัน Competitiveness ภายใต้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวให้เป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลใน SMEs กลุ่มต่าง ๆ ได้
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า คำแนะนำภาคธุรกิจ เฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออกในการรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย ต้นทุนการผลิตพุ่ง มี 5 ข้อคือ 1.ต้องรับคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) อย่างเป็นทางการก่อนทำการผลิตจริง 2.ควรวางแผนการผลิต ตามสถานการณ์ทางการค้าในยุคการค้าที่มีความผันผวน ควรผลิตตามคำสั่งซื้อและทำการผลิตสินค้าสต๊อกตามสมควร ไม่มากจนเกินไป
3.จากค่าเงินบาท ณ ปัจจุบันที่ทิศทางยังผันผวน ควรเสนอราคาสินค้ารายไตรมาส เพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยตัวอย่างวิธีบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านความผันผวนทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การซื้อหรือขายสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract), การซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า และการฝากเงินตราต่างประเทศไว้ในประเทศไทย (FCD) 4.ให้ความสำคัญกับตลาดที่มีกำลังซื้อ เช่น กลุ่มตลาดตะวันออกกลาง และ 5.จำเป็นต้องมองในวงกว้างและความยืดหยุ่น มีการบริหารจัดการเรื่องการเงินและต้นทุนการผลิต รวมถึงประสิทธิภาพการผลิตให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงอย่างสมํ่าเสมอ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทั่วถึงขึ้น โดยประมาณการเติบโตไว้ที่ 3.7% จากแรงส่งหลักของการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มเป็น 22 ล้านคนและรายได้แรงงานปรับดีขึ้น
สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาส 3 ปี 2565 ที่ขยายตัวเฉลี่ยราว 7% และปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.55% ในเดือนพฤศจิกายน และคาดว่า จะลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ที่ระดับ 3.0% แต่ยังต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนและการปรับราคาพลังงานในประเทศ
ด้านการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ในปี 2566 นั้น ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ , เสถียรภาพของราคาหรือเงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงิน หากสมดุลความเสี่ยงเปลี่ยนไปพร้อมปรับขนาดหรือเงื่อนเวลาการปรับนโยบายให้เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนให้เห็นผลมี 4 เรื่องหลักคือ 1.การปรับนโยบายหรือมาตรการทางการเงินกลับสู่ภาวะปกติ และถอนมาตรการทางการเงินที่มีผลเป็นวงกว้าง 2. การแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน 3. การยกระดับภาคการเงิน เพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง Green 4. การวางฐานรากการเงินดิจิทัลนั้น ธปท. จะออกเกณฑ์โดยยึดหลักสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงใหม่ๆที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี
ด้าน นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า จากของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล คือดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง รวมถึง ธปท.ไม่ต่อมาตรการ LTV ( อัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่าหลักประกัน ) โดยวัดจากอสังหาฯฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นภาพลวงตา
สำหรับภาพรวมตลาดอสังหา ริมทรัพย์ปี 2566 มองว่า เข้าสู่ปีที่ยากลำบากรอบด้าน ทั้งความเปราะบางของกำลังซื้อในประเทศ เห็นได้จากการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินกว่า 40% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหนี้ครัวเรือนทำให้การเติบโตของอสังหาฯเป็นไปได้ช้า แต่ยังมีปัจจัยบวกหากการยกเลิก ผ่อนคลาย LTV พบว่ากำลังซื้อไม่กลับมา ธปท.อาจพิจารณาผ่อนคลายต่อได้
เอกชนต้องการเครื่องมือจากรัฐเพื่อช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ต่อเนื่องจากปี 2565 เพราะของขวัญปีใหม่ที่ได้รับจากรัฐบาล ทั้งการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จาก 2% เหลือ 1% แต่เพิ่มขึ้น 100 เท่า เมื่อเทียบกับมาตรการลดค่าโอนฯปี 2565 อยู่ที่ 0.01% ส่วนค่าจดจำนองยังลดหย่อนเท่าเดิมที่ 0.01 % โดยสรุปภาพรวมต่อการกระตุ้นอสังหาฯไม่มีปัจจัยเป็นบวก คงมีแต่ผลกระทบ ที่ผู้ประกอบการต้องใช้กลยุทธ์เอาตัวรอดลดแลกแจกแถมต่อไป
นอกจากนี้ต้องเปิดโครงการให้ตรงความต้องการ เร่งระบายสต๊อกในมือให้มากที่สุด ไม่ลดปริมาณการเปิดตัวโครงการใหม่ลง ที่สำคัญต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่าง ๆที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันได้ ส่วนปัจจัยบวกคือกำลังซื้อจากต่างชาติ โดยเฉพาะจีนที่เริ่มเดินทางออกนอกประเทศ จะช่วยเรื่องภาคท่องเที่ยว รวมถึงการกลับมาโอนฯ อสังหาฯในไทยและซื้อต่อเนื่อง
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก จะเป็นการฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง จากการเติบโตเชิงบวกของภาคท่องเที่ยว ที่จะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับระบบเศรษฐกิจไทยให้โตต่อเนื่อง แต่การท่องเที่ยวจะเติบโตได้ รัฐบาลต้องช่วยยกระดับภาคบริการและค้าปลีกของไทย เพราะส่วนนี้ถือเป็น Back Bones ของการท่องเที่ยว เนื่องจากมี SMEs ในระบบกว่า 2.4 ล้านราย และมีการสร้างการจ้างงานกว่า 13 ล้านคน
เพราะฉะนั้นหากภาคบริการและค้าปลีกแข็งแรง เครื่องยนต์ตัวเดียวของประเทศไทยคือภาคท่องเที่ยวก็จะแข็งแรงตามไปด้วย และจะส่งต่อโมเมนตัมที่ดีไปยังเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในครึ่งปีหลัง ทั้งนี้เซ็นทรัล รีเทล มองว่าปี 2566 จะเป็นปีแห่งโอกาสที่มาพร้อมกับความไม่แน่นอน ดังนั้นต้องถือโอกาสนี้ในการต่อยอดการขยายธุรกิจ และมองหาโอกาสในการสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในทุก Segment ต่อไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน มี 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การเร่งฟื้นกำลังซื้อ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติ 2. ขอให้รัฐบาลช่วยยกระดับและออกมาตรการกระตุ้นภาคบริการและค้าปลีกของไทย ให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
3. ขอให้รัฐบาลใหม่ยังคงความต่อเนื่องและสานต่อโครงการต่าง ๆ ที่ดีอยู่แล้วให้เกิดขึ้นต่อไป 4. ขอให้ภาครัฐพิจารณาสิทธิพิเศษทางด้านภาษีสำหรับภาคเอกชน ที่ทำเรื่อง Green Transition เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระต้นทุนที่สูง และเอกชนสามารถลงทุนเพิ่มในการพัฒนา BCG ต่อไป
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2566 ตลาดค้าปลีกน่าจะเติบโตต่อเนื่องจากช่วงเทศกาล คริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีนที่ปีนี้มาเร็วขึ้น ประกอบกับมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ ช้อปดีมีคืน น่าจะช่วยทำให้ตลาดเติบโตได้ต่อไป
รวมถึงจากการที่จีน จะเปิดประเทศในวันที่ 8 ม.ค. 66 นี้จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทย จากก่อนหน้าหนี้นักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติไทยทั้งหมด ในส่วนของบิ๊กซี จะได้รับผลบวกค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะมาเสริมนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย ซึ่งปัจจุบันยอดขายของสาขาสำหรับนักท่องท่องฟื้นตัวกว่า 80% หากมีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มเข้ามาอีกคาดว่ายอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“มาตรการภาครัฐต่าง ๆในการช่วยเพิ่มกำลังซื้อ ควรยังคงมีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป สำหรับห้างค้าปลีก ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากค่าพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟที่ปรับขึ้นมาก จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ”
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติและนักท่องเที่ยวกลับมาเดินทางอีกครั้ง แต่รูปแบบการเดินทางอาจจะเปลี่ยนไปในลักษณะของการเที่ยวแบบพักนานมากขึ้น (long stay) เพื่อให้การเดินทางคุ้มค่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงขึ้น
ในส่วนของปัจจัยลบที่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง คือปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมบริการ ปัญหาต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าไฟฟ้า พลังงาน และเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัย และปัญหาจากการแข่งขันในด้านราคา เพื่อดึงดูดลูกค้าให้กลับเข้ามา ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพของนักท่องเที่ยวในระยะยาว
ทั้งนี้สิ่งที่ควรส่งเสริมเพิ่มเติมในภาวะที่อุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ควรจะครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ เช่น
Less is more : ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวไทย “ทำน้อยได้แต่มาก” (Less is more) เน้นการท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์แบบไทยที่เรียบง่าย แต่สัมผัสได้ถึงความลุ่มลึกของเสน่ห์แห่งการท่องเที่ยว
Quality VS Quantity : ต้องสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ควบคู่ไปกับปริมาณนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญ
STORY come first : ในหลายๆ ประเทศใช้ “เรื่องราว” ที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวเล่าเรื่อง และดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว เป็นโจทย์ที่เราต้องคิดว่า STORY come first จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
Sustainability is a MUST and it comes with high investment : การสร้างความยั่งยืนเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ และเป็นโจทย์ที่เราต้องคิด เพื่อเดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
Travel with PURPOSE : ต้องสร้างความหมายให้กับทุกการเดินทางของนักท่องเที่ยวและผู้คนทั่วโลก ซึ่งหมายรวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว การบริการ จะต้องตอบโจทย์ความต้องการหรือเป้าหมายในการเดินทางของผู้คนได้อย่างน่าประทับใจ เป็นต้น
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ "เคทีซี" ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าประเทศไทยวางกลยุทธ์ไว้ดีมาก โดยไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ เศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะเติบโตต่อเนื่อง และปีนี้จะมีการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยช่วยทำให้เกิดการกระจายเงินในระบบ
“ไทยวางกลยุทธ์ปี 2566 ไว้ดีมาก คือ เรารู้แล้วว่าปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนจีนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ(จีดีพี) จะขยายตัวได้กว่า 3% แต่ส่วนตัวคิดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตมากกว่าที่คาดแนวโน้มเศรษฐกิจจีนจะเติบโตหลังจากเปิดประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดจากอึดอั้นมานานม ต้องเที่ยวล้างแค้น ต้องกินล้างแค้น ซึ่งทุกอย่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์”
นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด ในฐานะประธานสมาคมเช่าซื้อไทย (THPA) ระบุว่า ปี2566 แนวโน้มภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อยังขยายตัวได้โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์ในระบบจะอยู่ที่ประมาณ 8.8 แสนคันซึ่งเติบโตประมาณ 10% จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 8 แสนคัน ในแง่ของภาพรวมสินเชื่อเช่าซื้อไม่ว่ารถเก่าหรือรถใหม่เติบโตได้ 10% ขึ้นไป
ปัจจัยบวกมาจากเศรษฐกิจฟื้นตัวในแง่ของโควิดที่ผ่านคลายลง ประกอบกับคนกลับเข้ามาทำงานและรถยนต์ยังเป็นปัจจัยที่ 5 ส่วนปัจจัยลบยังเป็นห่วงกำลังซื้อซึ่งอาจจะส่งผลต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในส่วนของการดำเนินธุรกิจซีไอเอ็มบีไทยตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ 2 หมื่นล้านบาทคิดเป็นการเติบโตประมาณ 20% จากปี 2565 พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้ออยู่ที่ 32,000 ล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลตํ่ากว่า 2% แม้จะมีความเป็นห่วงเรื่องเอ็นพีแอลอาจจะสูงขึ้นแต่คงจะควบคุมได้
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3850 วันที่ 5 – 7 มกราคม พ.ศ. 2566