เปิดสูตรเอกชนติวเข้มรัฐบาล คุมปัจจัยพื้นฐานเอื้อแข่งขัน รับโลกถดถอย

13 ม.ค. 2566 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2566 | 06:50 น.

เปิดสูตรบิ๊กเอกชนติวเข้มรัฐบาลเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงรอยต่อ หลัง IMF เตือนเศรษฐกิจ 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย สภาอุตฯจี้ปรับโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการแข่งขัน หอการค้าฯ เร่งใช้โมเมนตัมเอเปคดูด FDI 6 แสนล้าน สรท.ส่งเสียงดูแลค่าบาทให้เสถียร หลังแข็งค่าเร็ว

นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)ได้ออกมาเตือนล่าสุดว่า เศรษฐกิจโลกปี 2566 จะเป็นปีที่ยากลำบากและรุนแรงกว่าปีที่แล้ว โดยคาด 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) เนื่องจาก 3 เศรษฐกิจใหญ่ของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และจีน มีแนวโน้มชะลอตัวลงพร้อม ๆ กัน ล่าสุด IMF ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2566 จะเติบโตได้เพียง 2.7% จากคาดการณ์ไว้ที่ 2.9% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ภาครัฐและเอกชนของไทยได้ออกมาคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง (ส่วนใหญ่คาดขยายตัวได้เฉลี่ย 3-4%) โดยจะได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว แต่ภาคการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก

 

ดังนั้นในปีนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบัน รวมถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศยังมีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และระยะกลางเพิ่มเติม อาทิ มาตรการคนละครึ่ง ที่อาจต้องมีอีกในเฟสต่อไป เราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น จากก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เน้นไปที่การช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบด้านค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งประคับประคองให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการช้อปดีมีคืน ที่ได้ดำเนินการอยู่ในเวลานี้

 

เปิดสูตรเอกชนติวเข้มรัฐบาล คุมปัจจัยพื้นฐานเอื้อแข่งขัน รับโลกถดถอย

 

ปรับโครงสร้างพื้นฐานเอื้อแข่งขัน

ขณะเดียวกัน จากปัญหาที่ภาคธุรกิจต้องแบกรับภาระต้นทุนประกอบการที่สูงมากในเวลานี้ ทำให้ภาคธุรกิจของไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น ส.อ.ท. จึงมองว่า การรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย จะเป็นมาตรการพยุงเศรษฐกิจที่สำคัญ และจะช่วยเสริมสร้างรากฐานในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างยั่นยืนในอนาคต โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง ทั้งด้านต้นทุนพลังงาน ค่าจ้างแรงงาน ต้นทุนทางการเงิน รวมทั้งการบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นฐานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศที่มีจำนวนกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ ก็ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในทุกมิติ เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมด้านการตลาด ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมลงทุนปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน Upskill/ Reskill เป็นต้น

 

“สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ คือ การเร่งปฏิรูปกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อในการดำเนินธุรกิจ เพื่อช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพ และการดำเนินธุรกิจของประชาชน”

 

เติมสภาพคล่อง-ลดภาระหนี้

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2566 ถือเป็นอีกปีที่มีความท้าทาย ซึ่งแม้ว่าหอการค้าไทยยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีหลายปัจจัยที่จะมีส่วนกระทบต่อความเสี่ยงของภาพรวมเศรษฐกิจยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

โดยหอการค้าไทยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมีความจำเป็นมาก รัฐบาลควรมีมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว มาตรการบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้ โดยคำนึงถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินในสถานการณ์ปัจจุบัน การเลื่อนการชำระหนี้ ลดภาระหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ ถือมีความจำเป็นเพื่อบรรเทาผลกระทบลูกหนี้

 

มาตรการดูแลต้นทุนภาคการผลิต โดยเฉพาะค่าพลังงาน และค่าไฟฟ้า ส่วนนี้จะช่วยพยุงให้ราคาสินค้าและบริการอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก เพื่อประคองกำลังซื้อภายในประเทศให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ตลอดจนเตรียมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิผลต่อเศรษฐกิจ เน้นให้เกิดการจ้างงาน และการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ

 

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ ควรใช้แนวทางแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องชั่งน้ำหนักจากหลายปัจจัย ทั้งเงินเฟ้อ หนี้ภาคครัวเรือน หนี้เอกชน และยังมีหลายเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีในการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการและประชาชน

 

เร่งโมเมนตัมดูด FDI 6 แสนล้าน

นอกจากนี้ การดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้มากและรวดเร็วที่สุด เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากความพร้อมและความเชื่อมั่นของไทยภายหลังจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2565 ที่ผ่านมา จะเป็นแรงหนุนให้เกิดการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่มีความพร้อมรองรับการลงทุนจากทั่วโลก คาดว่าภายใน 3-5 ปีนับจากนี้จะสร้างการลงทุน FDI มูลค่าไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้หอการค้าฯ และบีโอไอ ได้ร่วมมือกันในการจัดโรดโชว์ไปต่างประเทศ และกำหนดประเทศยุทธศาสตร์เป้าหมาย ที่จะต่อยอดและดึงเม็ดเงินมาลงทุนในไทย ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม อินเดีย รวมถึงได้หารือกับนักลงทุนและภาคเอกชนญี่ปุ่นในการลงทุนต่อเนื่องในไทย โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

 

บาทแข็งเร็วจี้ดูแลให้เสถียร

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 1.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ จากเวลานี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว (10 ม.ค. 66 อยู่ที่ 33.44 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่ามากสุดรอบ 9 เดือน) กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา รวมถึงให้พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปเพราะมีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ

 

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

 

2.ขอให้ช่วยชะลอหรือกำกับดูแลมาตรการภาครัฐใหม่ หรือยกเลิกมาตรการเดิมที่เป็นเหตุให้มีการเพิ่มต้นทุนกับผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตให้น้อยลง เพื่อรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด และกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น กำกับดูแลค่าไฟฟ้า น้ำมัน และค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น 3.สนับสนุน และเร่งรัดความต่อเนื่องของการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาทิ ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-GCC และ 4.ขอให้เร่งขยายมาตรการ Soft Power สินค้าอัตลักษณ์ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างโอกาสในการขยายตลาดใหม่ให้มากขึ้น

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3852 วันที่ 12 - 14 มกราคม พ.ศ. 2566