ปมหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวกลายเป็นหนังม้วนยาว ระหว่าง กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดย บริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด (เคที) กับ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี รวม 4 หมื่นล้านบาท โดยไม่รวมค่างานโยธาฯ ซึ่งปัจจุบันยังไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อยุติเมื่อใด แม้ว่าคดีแรก ศาลปกครองกลางชี้ขาดว่า กทม.และ เคทีต้องชำระหนี้ ค่าเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1.2 หมื่นล้านบาทให้กับ บีทีเอสซี ในฐานะเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง รวมถึงข้อยุติการจัดเก็บค่าโดยสาร ที่คาราคาซังเปิดให้บริการฟรีแก่ประชาชนนานหลายปี
ล่าสุด นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าการฟ้องร้องทวงหนี้ต่อศาลปกครองในโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ฟ้องเรียกค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ประมาณ 10,000 ล้านบาท ต่อศาลปกครองกลาง จากกรุงเทพมหานครและ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ในคดีที่ 2 โดยศาลฯได้ส่งหนังสือคำชี้แจงต่อกทม.และเคทีดำเนินการแล้ว
“การฟ้องร้องของบริษัทในครั้งนี้ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ไม่ชำระค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อเนื่อง ที่ผ่านมาการฟ้องร้องครั้งแรกเป็นการฟ้องร้องค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2564”
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า การฟ้องร้องทวงหนี้ วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ในครั้งที่ 2 นี้เป็นมูลหนี้ที่ไม่ได้รวมกับมูลหนี้ในการฟ้องร้องครั้งแรก ทำให้ปัจจุบันบริษัทได้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้ว วงเงินประมาณ 22,000 ล้านบาท ส่วนจะมีการฟ้องร้องต่อศาลเพิ่มเติมหรือไม่ เบื้องต้นต้องปรึกษาทางทีมกฎหมายด้วย รวมทั้งขึ้นอยู่กับกทม.และเคที หากมีการชำระหนี้ให้กับบริษัทก็ไม่มีความจำเป็นต้องฟ้องร้อง
“ขณะนี้ทางกทม.และเคทียังไม่ได้มีการนัดเจรจาร่วมกับบริษัท เนื่องจากต้องรอให้ทั้ง 2 รายยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองก่อน ซึ่งอยู่ในกระบวนการของศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้พิจารณา”
สำหรับมูลหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวของภาครัฐที่มีต่อบีทีเอสซีในปัจจุบันมีมูลหนี้รวมกว่า 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ วงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท และหนี้ติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีที่กทม.และรฟม.ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 รวมทั้งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 กทม.ได้มีการทำสัญญากับกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ เพื่อรับภาระทางการเงินและภาระการรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประกอบด้วย 1. สัญญาให้กู้ยืมเงินต่อระหว่างกระทรวงการคลังกับกทม. 2. สัญญาชำระคืนเงินยืมระหว่างกระทรวงการคลังกับกทม. ปัจจุบันการโอนกรรมสิทธิ์ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากการโอนกรรม สิทธิ์ยังไม่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สำหรับหนี้การจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบันรฟม.ยังคงรับภาระในการชำระหนี้ สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นจำนวน 53,592 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.งานโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 30,940 ล้านบาท ประกอบด้วย ชำระคืนต้นเงินกู้ค่าก่อสร้างงานโยธาและค่าจ้างที่ปรึกษางานโยธา 28,171 ล้านบาท, ชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้ 2,556 ล้านบาท, ชำระค่าธรรมเนียมการกู้เงิน 211 ล้านบาท 2. ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ไม่รวมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนค่าทดแทนเพิ่มตามคำพิพากษาและส่วนการใช้ก่อสร้างทางเท้าความกว้างไม่น้อยกว่า 150 ซม. ซึ่งรฟม.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ 3,504 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,483 ล้านบาท, ค่าจ้างสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 11 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์โครงการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ปี 2535 จำนวน 2.4 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบคัดเลือกผู้รับจ้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า 7.3 ล้านบาท 3. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ รวมเงินชำระจริง 68,343 บาท
นอกจากนี้ยังมีหนี้งานโครง สร้างพื้นฐานส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 18,211 ล้านบาท ประกอบด้วย ชำระคืนต้นเงินกู้ค่าก่อสร้างงานโยธาและค่าจ้างที่ปรึกษางานโยธา 16,691 ล้านบาท, ชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้ 1,402 ล้านบาท, ชำระค่าธรรมเนียมการกู้เงิน 117 ล้านบาท 2. ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ไม่รวมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนค่าทดแทนเพิ่มตามคำพิพากษาและส่วนการใช้ก่อสร้างทางเท้าความกว้างไม่น้อยกว่า 150 ซม. ซึ่งรฟม.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ 937 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 923 ล้านบาท, ค่าจ้างสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 4.8 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์โครงการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ปี 2535 จำนวน 2.4 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบคัดเลือกผู้รับจ้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า 6.5 ล้านบาท 3. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ รวมเงินชำระจริง 322,611 บาท