กมธ.คมนาคม จ่อถก BTS เหตุขึ้นค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว”

08 ธ.ค. 2565 | 06:08 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2565 | 13:12 น.

กมธ.คมนาคม เล็งถก BTS แจงสาเหตุปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว หวั่นซ้ำเติมภาระค่าครองชีพประชาชน ฟากคมนาคมซัดกมธ.เมินเรียก BEM แจงเหตุขึ้นค่าทางด่วน-สายสีน้ำเงิน-สายสีม่วง กระทบต้นทุนราคาสินค้าพุ่งต่อเนื่อง

รายงานจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า วันนี้ ( 8 ธ.ค.65) กรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนฯ ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย(ภท.) และอดีต รมว.คมนาคม เป็นประธาน ได้มีการประชุมกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาญัตติการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียว ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BTSC ที่จะปรับขึ้นตั้งแต่ 1-3 บาทต่อสถานีจาก 16-44 บาทเป็น 17-47 บาทตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66  โดยอ้างว่า ทางกรรมาธิการได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าเป็นการซ้ำเติมภาระค่าครองชีพของประชาชน ทางกมธ.จึงได้เชิญผู้บริหารของ BTSC เข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการปรับเพิ่มค่าโดยสารครั้งนี้อย่างเร่งด่วน    

 

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการที่กมธ.คมนาคมได้เรียกผู้บริหารบีทีเอสมาชี้แจงกรณีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารในครั้งนี้ว่า แม้จะอ้างว่าเพราะได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผู้ใช้บริการที่เห็นว่า เป็นการฉวยโอกาสปรับขึ้นในช่วงที่ประชาชนแบกภาระค่าครองชีพที่สูงอยู่แล้ว ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการได้รับความเดือดร้อนในวงกว้าง
 

“เป็นที่น่าสังเกตว่าการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าในครั้งนี้ ไม่ได้ปรับขึ้นแต่เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียว 2 สายหลักของบีทีเอสเท่านั้น ในส่วนของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)ให้บริการอยู่ ก็มีการปรับขึ้น 1 บาทต่อสถานี ในสถานีที่ 6,9,11 และสถานที่ 12 เป็นต้นไป ซึ่งแม้จะปรับขึ้นน้อยกว่า BTS แต่ส่วนหนึ่งมาจาก MRT มีการปรับอัตราค่าโดยสารในทุก 2 ปี ทำให้ไม่รู้สึกว่ามีการปรับขึ้นค่าโดยสารแบบก้าวกระโดด ขณะที่ BTS ไม่ได้มีการปรับค่าโดยสารมากว่า 5 ปีแล้ว”

 

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมา  BEM ได้ปรับขึ้นค่าทางด่วนพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบ โดยปรับขึ้นค่าผ่าทางรถยนต์4ล้อจาก 50 เป็น 65 บาทหรือปรับขึ้น 25 บาท  รถ 6-10 ล้อจาก 80 บาทเป็น 105 บาท และมากกว่า 10 ล้อจาก 115 บาทเป็น 150 บาทหรือเฉลี่ยปรับขึ้น 30% นับตั้งแต่ 15 ธ.ค.2564 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ มีการปรับตัวตามขึ้นมาเป็นลูกโซ่ แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ทางกมธ.คมนาคม กลับไม่เคยมีการเรียก BEM เข้าชี้แจงเหตุผลในการปรับขึ้นค่าผ่านทางด่วนที่ว่านี้แต่อย่างใด 
 

ขณะเดียวกันความพยายามของหลากหลายหน่วยงานในการยื่นมือเข้ามาเบรกการปรับอัตราค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานว่า อยากให้ทุกฝ่ายได้ย้อนกลับไปพิจารณาบทเรียนจากการที่รัฐบาลสอดมือเข้าไปกระตุกเบรกไม่อนุมัติให้มีการปรับค่าผ่านทางตามสัญญากรณี "ดอนเมืองโทลล์เวย์"  ในช่วงปี 2542 และ 2547 ซึ่งในสัญญาสัมปทานนั้น บริษัทจะต้องปรับอัตราค่าผ่านทางในทุก 5 ปี โดยในช่วงปี 2542 ต้องปรับค่าผ่านทาง 55 บาทตลอดสายสำหรับรถ 4 ล้อ 65 บาท สำหรับรถ 6 ล้อขึ้นไป แต่รัฐบาลขณะนั้น ไม่อนุมัติให้ปรับค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทานเช่นเดียวกับปี 2547 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (17 ก.พ. 44-11 มี.ค.48) ที่ต้องปรับค่าผ่านทางขึ้นเป็น 70 บาทจนถึง 100 บาทตลอดสาย แต่รัฐบาลก็ไม่อนุมัติให้ปรับค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทาน ทั้งยังขอให้ดอนเมืองโทลล์เวย์เก็บค่าผ่านทาง 20 บาทตลอดสายสำหรับรถ 4 ล้อ และ 50 บาทสำหรับรถ 6 ล้อขึ้นไปเสียอีกก่อนจะมีการปรับอัตราค่าผ่านทางในช่วงปี 2550-2552 ขึ้นมาเป็น 35 บาทสำหรับรถ 4 ล้อ และ65 บาท สำหรับรถ 6 ล้อขึ้นไป


นอกจากนี้การที่รัฐเข้ามาแทรกแซงการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางข้างต้น  กลายมาเป็นมูลเหตุให้บริษัทนำเรื่องขึ้นร้องต่อศาลปกครอง และนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการเพื่อเรียกร้องให้รัฐชดเชยความเสียหายหลายระลอกจนนำมาซึ่งการแก้ไขสัญญาสัมปทานและรัฐต้องยอมขยายสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัทออกไปถึง 13 ปี เป็นสิ้นสุดในปี 2577 และขยายฐานค่าผ่านทางช่วงดินแดง–ดอนเมือง จาก 20–100 บาท ช่วงดอนเมือง–อนุสรณ์สถาน 15–45 บาท พร้อมอนุมัติกรอบการปรับอัตราค่าผ่านทางล่วงหน้าโดยไม่ต้องขออนุมัติจาก ครม.    

 

อย่างไรก็ตามผลพวงจากการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 3 เมื่อปี 12 ก.ย.2550 ทำให้รัฐบาลในชุดต่อ ๆ มา ไม่กล้าเบรกการปรับอัตราค่าผ่านทางของโครงการนี้จนปัจจุบัน หวั่นเสียค่าโง่ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้บริษัทฟ้องร้องขอขยายสัญญาสัมปทานอีก