มหากาพย์รถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนท์-มีนบุรี) 1.42แสนล้านบาท ใกล้ได้ข้อสรุป ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย เมื่อ วงในสำนักงานศาลปกครอง รายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดจะเรียกประชุม องค์คณะศาลชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือบีทีเอสซี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ฯลฯ ปมแก้ไขเกณฑ์ทีโออาร์กลางคันระหว่างประมูลรอบแรก ว่าจะยืนตามศาลปกครองกลางหรือไม่ ทั้งนี้ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง วินิจฉัยว่าไม่ชอบต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมกับเอกชนผู้เข้าแข่งขัน
ขณะเดียวกัน รฟม.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อเรื่องนี้ไว้ว่าการดำเนินการมีความถูกต้อง โดยให้เหตุผลว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ การก่อสร้างช่วงตะวันตก เป็นงานใต้ดินตลอดเส้นทาง ต้องใช้เทคนิคชั้นสูง รวมถึงคดียกเลิกประมูลรอบแรก ที่ถูกจับตาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกัน เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะลุ้นว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการ ภาคการเมืองประเมินว่าสายสีส้มไม่น่าจะจบลงง่ายดายนัก เพราะมีกรณีวงเงินส่วนต่างจากการประมูลยังเป็นที่กังขาที่บีทีเอสซีเปิดซองที่เคยยื่นข้อเสนอรอบแรกต่อสาธารณะ ให้เห็นว่าส่วนต่างมีอยู่จริงถึง 68,612.53 ล้านบาท
โดย บีทีเอสซี ขอรับอุดหนุนจากรัฐ เพียง 9,675 ล้านบาท แต่ในการประมูลรอบสอง ซึ่ง เอกชนที่ชนะประมูล ขอรัฐอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท ทั้งที่ในทางเทคนิคคือสร้างสิ่งเดียวกัน คือรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบบการก่อสร้างไม่ได้เปลี่ยนแปลง
ปมส่วนต่างสายสีส้ม กลายเป็นประเด็นร้อน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องมีคำสั่งชะลอ การเสนอผลการประมูล เข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนกว่าคดีในศาลปกครองจะเป็นที่ยุติ แต่ทั้งนี้มีกระแสจากวงในผู้รับเหมาว่า ราววันที่17 มกราคม จะผลักดัน ผลการประมูลสายสีส้มเข้าครม.เพื่ออนุมัติก่อนยุบสภา หรือก่อนศาลปกครองสูงสุดจะประชุมพิจารณาคดีสายสีส้มเพียงวันเดียว
อย่างไรก็ตามต่อเรื่องนี้ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีที่ กระทรวงคมนาคมจะนำเรื่องสายสีส้มเข้าครม.อนุมัติผลการประมูลเพื่อลงนามวันที่ 17 มกราคม นี้ มองว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะยังมีคดีอยู่ในศาลถึง 3 คดี เพราะจะเกิดเสียงคัดค้านตามมา
ย้อนไปก่อนหน้านี้ นายสามารถได้พบความผิดปกติ ซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ จากถ้อยแถลงผลการประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้มรอบที่สอง อาจสูงกว่ารอบแรก พุ่งขึ้นเป็น 75,756.58 ล้านบาท จากเดิมทีบีทีเอสซีเปิดข้อมูลที่68,612.53 ล้านบาททั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 รฟม. แถลงข่าวผลการประมูลรอบสอง
เอกชนผู้ชนะประมูล ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 78,287.95 ล้านบาท โดยนายสามารถได้เปรียบเทียบกับการประมูลรอบที่1 ซึ่ง บีทีเอสซี ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 9,675.42 ล้านบาท พบว่าเงินสนับสนุนสุทธิที่เอกชนผู้ชนะประมูล ขอในการประมูลรอบสอง มากกว่าเงินสนับสนุนสุทธิที่บีทีเอสซี ขอในการประมูลรอบแรก ถึง 68,612.53 ล้านบาท
ต่อมา ในวันที่ 26 ธันวาคม 2565 รฟม. ชี้แจงผลการประมูลครั้งที่ 2 ระบุว่าเอกชนผู้ชนะประมูล ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 85,432 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขใหม่ ไม่เหมือนเดิม ไม่มีการชี้แจงว่า เหตุใดเงินสนับสนุนสุทธิจึงเปลี่ยนไป ทำให้ผลต่างเงินสนับสนุนสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 75,756.58 ล้านบาท ดังกล่าว
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอสซี กล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่า วันที่ 18 มกราคมนี้ ศาลฯยังไม่ได้นัดหารือถึงคดีดังกล่าว โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดตัดสินพิจารณาผลอุทธรณ์จำนวน 2 คดี ประกอบด้วย
1.คดีที่รฟม.เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลสายสีส้ม 2.คดีที่รฟม.ยกเลิกการประมูลสายสีส้มไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนอีก 1 คดี คือ คดีที่รฟม.กีดกันการแข่งขันในการประมูลสายสีส้ม รอบ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลปกครองกลางพิจารณาคดี