การประกาศเปิดประเทศของจีนตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 เป็นต้นไป หลังจากดำเนินนโยบาย Zero-COVID มานานกว่า 3 ปี (นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสในปี 2563) เป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกไปยังตลาดจีน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าในปี 2566 ตลาดจีนจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง ทั้งนี้จีนเป็นตลาดหลักที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย เป็นตลาดส่งออกอันดับที่สอง (สัดส่วน 12% ของการส่งออกรวม) รองจากสหรัฐอเมริกา
โดยผลไม้เป็นสินค้าส่งออกหลักไทย และเป็นแหล่งส่งออกสินค้าขั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็น ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ ในขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่ง (สัดส่วนร้อยละ 23.3 ของการนำเข้ารวม) โดยส่วนใหญ่ไทยนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล ซึ่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการค้ากับจีนขยายตัวเพียง3.1% โดยหดตัวจากภาคการส่งออก (-6.5%) เป็นการหดตัวในรอบ 3 ปี แต่ขยายตัวจากการนำเข้า (+8.6%)
ทั้งนี้สินค้าส่งออกที่หดตัวในตลาดจีนที่สำคัญ ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นต้น
ดังนั้นการที่จีนเปิดประเทศมากขึ้น ทำให้คนจีนที่เหมือนถูกจำกัดการเดินทาง การใช้จ่าย ก็จะอัดอั้นกันมาตลอด3ปี เมื่อรัฐบาลจีนให้คนจีนสามารถเดินทางได้มากขึ้น ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการส่งออกไปยังตลาดจีนในปี 2566 เพราะประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมา ส่งผลให้กิจกรรมการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนภาครัฐ ฟื้นตัวอย่างมากเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก สร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนให้กลับคืน
“แต่อาจจะยังมีความไม่แน่นอน ถ้าหากมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากจนระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหวจนต้องกลับไปล็อคดาวน์อีกครั้ง และมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวสูงขึ้น กดดันให้จีนหันมาใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการจัดการหนี้สินของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงมีปัญหาและหนี้ภาคครัวเรือนที่ได้รับผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายการเงินและการคลังของจีนอาจจะทำได้อย่างจำกัดขึ้น”
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าจีนยังคงเป็นตลาดหลักที่มีศักยภาพ จากการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นจะช่วยเร่งให้การส่งออกไปประเทศจีนกลับมามีทิศทางที่สดใสอีกครั้ง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในของจีนที่กลับมาดำเนินการใกล้เข้าสู่ระดับปกติ ด้วยประชากรจีนที่มีจำนวนมากเมื่อการบริโภคและการผลิตฟื้นตัวจะผลักดันการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น จากความต้องการที่อั้นไว้ในช่วงล็อคดาวน์ ประกอบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ภายใต้กรอบ“เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และ RCEP”ทำให้จีนนำเข้าสินค้าจากไทยในราคาถูก ท่ามกลางภาวะต้นทุนทางการเงินยังคงสูง สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวจะกลับมาฟื้นตัวโดยเฉพาะผลไม้ ที่จะผ่านด่านทางบกได้อย่างสะดวกขึ้น
รวมทั้งความพร้อมในการตรวจสอบกักกันผลไม้นำเข้าของด่านรถไฟโม่ฮาน ที่จะช่วยให้ต้นทุนผู้ส่งออกต่ำลง รวมทั้งสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าแฟชั่น ที่เติบโตตามการเปิดเมืองก็จะกลับมา ในขณะที่สินค้าเกี่ยวกับการแพทย์และสินค้าสำหรับป้องกันรักษาโรคก็จะได้อานิสงส์จากการติดเชื้อโควิดที่จะเพิ่มขึ้นในจีนเช่นกัน ขณะที่สินค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบหากจีนต้องกลับไปล็อคดาวน์อีกครั้ง อาทิ ทุเรียน มันสำปะหลัง ไม้ยางพารา และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากพึ่งพาตลาดจีนอย่างมาก (ส่วนแบ่งในตลาดจีนมากกว่า 90%)
ดังนั้นในระยะกลางผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักอาจจะได้รับผลกระทบหากจีนเลือกนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากคู่แข่งหรือผลิตเองทดแทนตามนโยบายพึ่งพาตนเองที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) จึงควรวางแผนกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดศักยภาพอื่น ๆ มากขึ้น รวมทั้งสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตลอดจนการวางแผนทางการเงินที่รัดกุม เพื่อรับมือความเสี่ยงของตลาดจีนที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่