ในการส่งออกข้างต้น ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกสินค้าไปจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่า 31,831.8 ล้านดอลลาร์ -6.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คาดการณ์ส่งออกไทยไปตลาดโลกในภาพรวมปี 2565 ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯคาดจะขยายตัว 6.5 – 7.5% มูลค่า 289,686 ถึง 292,281 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนคาดการณ์ส่งออกไทยไปตลาดจีนในปี 2565 คาดจะขยายตัวลดลง หรือติดลบที่ -5.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยคาดจะมีมูลค่า 35,062 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2564 ที่มีมูลค่า 37,266 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้การส่งออกของไทยไปจีนที่ขยายตัวลดลงดังกล่าว มีปัจจัยหลักมาจาก นโยบายโควิดของจีน ที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดชะงัก และเศรษฐกิจจีนลดลงจากที่ตั้งเป้า 5% เหลือเพียง 3% การจับจ่ายใช้สอยผู้บริโภคจีนชะลอตัวลง ขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าไปขายในประเทศจีนมีขั้นตอนในการตรวจนานกว่าปกติ
สำหรับทิศทางแนวโน้มการส่งออกไทยไปตลาดจีนปี 2566 หลังจีนประกาศเปิดประเทศ และยกเลิกมาตรการ Zero COVID รศ.ดร.อัทธ์ ระบุว่า จากที่ปี 2566 จีนตั้งเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ที่ 5% แสดงว่า การบริโภคภายในประเทศ โรงงานการผลิต ต้องขยายตัวกว่าปี 2565 ประกอบกับการเปิดประเทศของจีนจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทั้ง Inbound และ Outbound จะทำให้เศรษฐกิจภายในจีนคึกคัก ประเมินว่าส่งออกไทยไปจีนในปี 2566 จะขยายตัว 0.5-1% หรือมีมูลค่า 35,136 -36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
“ปัจจัยบวก-ปัจจัยลบที่เป็นตัวแปรต่อการขยายตัวของการค้าไทย-จีนปี 2566 ปัจจัยบวกโดยรวมคือ จากการเปิดประเทศจากผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และเศรษฐกิจจีนขยายตัวมากกว่าปี 2565"
ส่วนปัจจัยลบคือ จำนวนคนจีนติดโควิดในจีนสูงโดย Institute of Health Metrics and Evaluation (IHME)ของสหรัฐฯ ประเมินว่าต้นเดือนเมษายน 2566 คนจีนเสียชีวิตจากโควิด 3 แสนคน ขณะที่ University of Hong Kong ประเมินว่า คนจีนเสียขีวิต 684 คน/1ล้านคน นั้นแสดงว่าทั้งปี 2566 คนจีนเสียชีวิต 1 ล้านคน และ the School of Public Health at Fudan University in Shanghai ประเมินว่าคนจีนเสียชีวิต 1.5 ล้านคนใน 6 เดือนข้างหน้า
หากประเมินตามนี้ มีโอกาสที่เศรษฐกิจจีนไม่สามารถถึงเป้า 5% จะไปชะลอการบริโภค การลงทุน การและส่งออกนำเข้า อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกไทยไปจีนที่คาดจะยังขยายตัวในปี 2566 อยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ได้แก่ ทุเรียน และผลไม้ชนิดอื่น และกลุ่มเกษตรแปรรูป เช่น มะม่วงอบแห้ง ผลไม้อบแห้งกลุ่มอาหารสุขภาพ และอาหารแห่งอนาคต (Future Food) กลุ่มสินค้าที่มีมาตรฐาน GAP และ GMP กลุ่มสินค้าที่แพ็กเกจจิ้งสวยงาม สีสัน ตามเทรนน์ของโลก
ขณะที่สินค้าที่ต้องจับตามองและอาจะได้รับผลกระทบคือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนกับสหรัฐฯ ที่จะทำให้ถูกแยกส่วนออกมา (Decoupling) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเสี่ยง ได้แก่ (ดูกราฟิกประกอบ)