นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า บริษัท Daikin Co.,Ltd.มีแผนที่จะพัฒนาบริษัท Daikin (ไดกิ้น) ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของอาเซียน โดยคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานแรงงานไทยได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน
ทั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องดีที่บริษัท Daikin เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฮับของอาเซียน โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งปัจจุบัน บริษัท Daikin ประเทศไทย มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ชลบุรี) 4 โรงงาน และที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ระยอง) อีก 1 โรงงาน
อย่างไรก็ดี ยังได้หารือกับนายมัตสึโอะ ทาเคฮิโกะ (Mr. Matsuo Takehiko) อธิบดีกรมนโยบายการค้า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Director General, Trade Policy Bureau Ministry of Economy, Trade and Industry : METI ) ถึงประเด็นการสนับสนุนโครงการไฮโดรเจนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park (สมาร์ทปาร์ค)
โดย กนอ.ได้ย้ำถึงการเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมพลังงานสะอาด และแผนการนำพลังงานไฮโดรเจนเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถรับส่งแรงงาน/พนักงานภายในนิคมอุตสาหกรรม การใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นพลังงานทดแทนด้านพลังงาน การสร้างสังคมปราศจากคาร์บอนโดยการประยุกต์ใช้พลังงานไฮโดรเจนขยายผลเทคโนโลยีรถยนต์พลังงาน รวมถึงการตั้งโรงงานเพื่อผลิตไฮโดรเจน
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า กนอ.ได้ตกลงร่วมมือศึกษาเพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Industrial Estate) ในพื้นที่มาบตาพุดร่วมกับหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ 7 ราย เพื่อสนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับการใช้งาน และการกักเก็บพลังงานหมุนเวียน เพื่อพยายามลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล
ขณะเดียวกันองค์การส่งเสริมการต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization : JETRO) ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาไฮโดรเจน โดยมีเป้าหมายในการขอทุนจากองค์กรพัฒนาพลังงานและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมใหม่ (New Energy and Industrial Technology Development Organization : NEDO) ในการพัฒนาและลงทุนไฮโดรเจนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ภาครัฐของญี่ปุ่นช่วยประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จรวมถึงเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567 บนพื้นที่ประมาณ 1,383.76 ไร่ รองรับอุตสาหกรรม New S-Curve ในพื้นที่อีอีซี (EEC) ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นให้มาลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ซึ่งเป็นการลงทุนบนพื้นที่ถมทะเลเพื่อใช้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าเหลว รวมทั้งคลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยชวนให้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงการท่าเทียบเรือสินค้าเหลว (แปลง A) และคลังสินค้าหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (แปลง C)
ขณะเดียวกันได้แจ้งกับนายมัตสึโอะ ทาเคฮิโกะ (Mr. Matsuo Takehiko) ด้วยว่า กนอ.มีแนวทางพัฒนานิคมอุตสาหกรรมตามความต้องการของนักลงทุน (Tailor made) ทั้งการร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และระบบสาธารณูปโภค (Facilities) กับ กนอ. ในรูปแบบอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน หรือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมบีซีจี (BCG) ที่จะดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม