คลังขนแบงก์รัฐจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ครั้งที่ 5 จ.สงขลา

24 ม.ค. 2566 | 06:09 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2566 | 06:32 น.

คลังขนแบงก์รัฐ จัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ครั้งที่ 5 จังหวัดสงขลา มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนแบบครบวงจร ควบคู่กับการเติมความรู้ เติมทุน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการต่อยอดการเร่งคลายปัญหาภาระหนี้ของประชาชน ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจัดงาน มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 5 ที่จังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ ภายในงานจะมีการมีให้บริการคำปรึกษาทางการเงินผ่านมาตรการดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนแบบครบวงจร ควบคู่กับการเติมความรู้ เติมทุน ในการสร้างอาชีพสร้างรายได้อย่างยั่งยืนพร้อมแคมเปญโปรโมชันกับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน
     
สำหรับงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ สัญจรครั้งที่ 5 ณ จังหวัดสงขลา ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้รับมอบหมายในการเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน

งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ สัญจรครั้งที่ 5 จังหวัดสงขลา จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2566 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยนำสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง อาทิ

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย รวมถึงส่วนงานต่างๆ หลายภาคส่วนจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินภายใต้เงื่อนไขแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการลดภาระการผ่อนชำระ การลดอัตราดอกเบี้ย การลดอัตรากำไรสำหรับลูกหนี้ไอแบงก์

คลังขนแบงก์รัฐลุยมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ครั้งที่ 5

การขยายเวลาการชำระหนี้ ยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ การตัดเงินต้นเพิ่มเติม โดยครอบคลุมลูกหนี้สินเชื่อประเภทต่าง ๆ อาทิ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อผู้ประกอบการธุรกิจ ลูกหนี้บัตรเครดิต ฯลฯ ควบคู่กับการให้คำปรึกษาทางการเงิน การเติมองค์ความรู้ในการฟื้นฟูอาชีพเดิม การสร้างอาชีพเสริม อาชีพใหม่ และการเติมทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยพิเศษหรืออัตรากำไรพิเศษสำหรับลูกหนี้ไอแบงก์และเงื่อนไขที่ผ่อนปรน  

นายอาคม กล่าวต่อไปว่า การจัดงานมหกรรมแก้หนี้ที่ผ่านมามีลูกหนี้ที่ลงทะเบียนจำนวน 4.5 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันลูกหนี้ราว 50% ของที่ลงทะเบียน อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขหนี้ 

อีกทั้งขณะนี้การฟื้นตัวของรายได้ประชาชนปัจจุบันในแง่ของโรงงาน ภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาทำงาน รวมถึงมีโอที ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวได้ดี สะท้อนจากอัตราการเข้าพักของโรงแรมขึ้นมาที่ระดับ 80% และภาคการเกษตร โดยสินค้าเกษตรราคาฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และรายได้ประชาชนปรับตัวดีขึ้น