ที่ผ่านมามีหลายโครงการขนาดใหญ่ที่ภาครัฐเร่งรัดให้เกิดขึ้นโดยเร็วอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่าบางโครงการฯที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคมยังยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะเริ่มเดินหน้าโครงการฯได้เมื่อไร เริ่มต้นที่โครงการฯแรก อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมีบริษัทเอเชีย เอรา วัน (ซีพี) เป็นเอกชนร่วมลงทุน ที่ผ่านมามีแนวโน้มที่จะเร่งรัดการลงนามแก้ไขสัญญาโครงการฯ ได้ทันในปี 2565 แต่ในปัจจุบันการลงนามแก้ไขสัญญายังคืบหน้าไปไม่ถึงไหน
ล่าสุดรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท เบื้องต้นจากการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอและเงื่อนไขโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2565 ที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกันในข้อเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาโครงสร้างโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง เนื่องจากการปรับโครงสร้างในครั้งนี้เป็นการปรับโครงสร้างร่วมเพื่อรองรับความเร็วของรถไฟฟ้าที่ 160 กม./ชม. แบบมาตรฐานยุโรปแทน ซึ่งจะทำให้ค่าก่อสร้าง 9,207 ล้านบาท ลดลง จากเดิมที่สามารถรองรับความเร็วของรถไฟฟ้าที่ 250 กม./ชม. แบบมาตรฐานจีน โดยที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเจรจาร่วมกับฝ่ายจีน เพราะเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทยจีน เพื่อขอความเห็นชอบในการปรับลดโครงสร้างต่อไป
ส่วนอีก 3 ข้อเสนอ ที่ประชุมได้เห็นชอบนั้น ประกอบด้วย 1. การให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาแบ่งชำระค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท 2. การแก้ปัญหาสถานการณ์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ และ 3.รายงานการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ
ขณะเดียวกันการแก้ไขสัญญาโครงการฯจะเริ่มดำเนินการได้ต่อเมื่อข้อเสนอทั้ง 4 ข้อผ่านการพิจารณาทั้งหมดก่อน โดยตั้งเป้าหมายส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มต้นก่อสร้างในเดือนมกราคม 2566 ทำให้โครงการฯยังอยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญา ซึ่งปัจจุบันยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
ขณะที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) วงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท โปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่ที่กระทรวงคมนาคมปลุกปั้นมาหลายปี เพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและรองรับต่อปริมาณการเดินเรือที่เกิดขีดความสามารถบริเวณช่องแคบมะละกาที่ปัจจุบันมีปริมาณการเดินทางจำนวนมาก อีกทั้งกระทรวงคมนาคมเคยวางแผนจะโรดโชว์ในต่างประเทศตั้งแต่ปีก่อน แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นโครงการฯเป็นรูปธรรมสักที
ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รายงานผลการศึกษาโครงการฯต่อกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยอยู่ระหว่างทบทวนเปรียบเทียบต้นทุนค่าก่อสร้างและการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวกับการลงทุนในโครงการคล้ายคลึงกันของต่างประเทศ เพื่อทำให้การลงทุนครั้งนี้คุ้มค่า มีราคาสมเหตุสมผล และได้รับผลตอบแทนสูงสุด
จากผลการศึกษาของ สนข. ประเมินว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะต้องใช้งบลงทุนสูงถึง 1,194,307 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 453,063 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร 485,544 ล้านบาท มอเตอร์เวย์ระนอง - ชุมพร 126,860 ล้านบาท รถไฟทางคู่ระนอง - ชุมพร 105,924 ล้านบาท และท่อส่งน้ำมัน 22,916 ล้านบาท ทั้งนี้ตามแผน สนข.จะแบ่งโครงการลงทุนออกเป็น 4 ระยะ ระยะแรกจะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2573 คาดว่าปริมาณสินค้าเข้ามาใช้บริการมากกว่า 20 ล้าน TEUs ซึ่งจะเทียบเท่ากับท่าเรือฮ่องกงที่มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก
ปิดท้ายที่โครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม อีก 1 โครงการฯที่กระทรวงคมนาคมพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะด้วยบัตรใบเดียวได้สะดวกมากขึ้น แต่ปัจจุบันโครงการฯยังมีความล่าช้าอยู่มาก เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการฯติดปัญหาการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมายให้ครบถ้วน
ปัจจุบันสนข.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. ไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือนมกราคมนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าตามกระบวนการจะแล้วเสร็จ เพื่อประกาศใช้ พรบ.ตั๋วร่วมดังกล่าวภายในปลายปี 2566 พร้อมเริ่มต้นการประกาศใช้อัตราราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการกำหนดหน้าที่ของผู้ที่ดูแล, คำนิยาม, อัตราตั๋วร่วม
ทั้งนี้ สนข.ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 ราว 40 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาเริ่มต้นศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการเจรจาธุรกิจในการกำหนดและประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม (Common Fare) สำหรับระบบขนส่งมวลชนที่เข้าร่วมในระบบตั๋วร่วมทั้งหมด หลังจากนั้น สนข.เตรียมเสนอของบประมาณประจำปี 2567 ราว 1,600 ล้านบาท เพื่อศึกษารูปแบบการจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และพัฒนาศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) ต่อไป
หลังจากนี้คงต้องลุ้นว่าทั้ง 3 เมกะโปรเจ็กต์จะสามารถดำเนินการได้ทันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายในปีนี้หรือไม่ หากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน คาดว่าแต่ละโครงการอาจสะดุดลงได้