นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการได้รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯเพื่อแก้ปัญหาทับซ้อนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ไฮสปีดไทย-จีน)
เบื้องต้นสำนักอัยการสูงสุดได้ตอบข้อหารือถึงรฟท.เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 เรื่องการตีความสัญญาร่วมลงทุนฯโครงการฯเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯพื้นที่มักกะสันและออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ว่า คณะกรรมการกำกับฯมีอำนาจตามข้อ 20 (3) ของประกาศอีอีซี แทรค ในการวินิจฉัยให้เป็นข้อยุติ
โดยที่ประชุมคณะกรรมการกำกับฯ เห็นว่า บริเวณลำรางสาธารณะและบึงเสือดำ ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณโดยรอบของมักกะสัน ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของการส่งมอบพื้นที่ในครั้งนี้ ทำให้รฟท.มีสิทธิครอบครองพื้นที่ตามกฎหมายครบ 100% ตั้งแต่ก.พ.2565 ทั้งนี้รฟท.สามารถส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้โดยไม่เป็นอุปสรรคกีดขวางการก่อสร้าง ซึ่งได้มีการส่งมอบพื้นที่ครบ 100% แล้วเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2565
ขณะเดียวกันรฟท.ได้ทำหนังสือถึงเอกชนเพื่อขยายการบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการเจรจาร่างแก้ไขสัญญาที่ รฟท.ทำร่วมกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด โดยให้เอกชนรับเงื่อนไขในการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองเพื่อให้ไฮสปีดไทย-จีน สามารถเปิดเดินรถตามที่กำหนด คาดว่าเอกชนจะตอบกลับภายในสัปดาห์หน้า
หลังจากนั้นจะเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)พิจารณา ภายในต้นเดือนก.ค.นี้ และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะทำงานเจรจาฯร่วมกันพิจารณากำหนดเริ่มระยะเวลาโครงการฯ ลงนามสัญญาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯไม่ช้ากว่าวันที่ 4 ม.ค.66
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่เอกชนคู่สัญญาแล้ว โดยเอกชนจะได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับโครงการเกี่ยวกับรถไฟ แต่เอกชนขอเวลาดำเนินการเพื่อให้ได้รับบัตรส่งเสริมฯคาดว่าจะได้รับภายในเดือนก.พ.66
“ยืนยันว่าระยะเวลาการขอส่งเสริมการลงทุนจะไม่กระทบต่อการแจ้งหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) แก่เอกชนเพื่อก่อสร้างโครงการฯ เพราะเอกชนสามารถรับบัตรส่งเสริมการลงทุนภายหลังเข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯได้”