“คลัง”คาดเศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัว 3.8%

27 ม.ค. 2566 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2566 | 05:17 น.

คลังคาดเศรษฐกิจไทยปี 65 โต 3% ส่วนปี 66 คาดว่าขยายตัวได้ 3.8% รับอานิสงค์จีนเปิดประเทศ คาดนักท่องเที่ยวทะลุ 27.5 ล้านคน เปิด 3 ปัจจัยเสี่ยงต้องติดตาม

นายพรชัย ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวได้ 3% ขณะที่ในปี 2566 นั้น ประมาณการว่าจะขยายตัวได้ 3.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยการเปิดประเทศของจีน 

 

ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 27.5 ล้านคน จากเดิมประมาณการว่าจะเข้ามาที่ 21.5 ล้านคน

 

“ประเมินว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในทิศทางขาขึ้น หากเปรียบเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา จากปี 2564 ขยายตัวได้ 1.5% ขณะที่ปี 2565 คาดว่าขยายตัวได้ 3% แม้มีการปรับประมาณการลงจากเดิมคาดว่าขยายตัวได้ 3.2% แต่ยังสูงกว่าปี 2564 และในปี 2566 นี้ ประเมินว่าจะสามารถขยายตัวได้ถึง 3.8%”

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.5%  ตามรายได้ภาคประชาชนที่เพิ่มขึ้น โดยบทบาทของนโยบายการคลังจะยังมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6%

ส่วนการส่งออกสินค้านั้น คาดว่าจะชะลอลงตามการชะลอลงของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวที่ 0.4%  (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.1 ถึง 0.9)

"ยอมรับว่ามีโอกาสที่การส่งออกจะติดลบ แต่มองว่าจะยังไม่ถึงจุดนั้น ซึ่งต้องมีการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลังก็คาดว่าเศรษฐกิจ 15 ประเทศคู่ค้าหลักของไทย จะขยายตัวได้ 2.7%"

ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.8%  (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 ถึง 3.3) ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1.0 – 3.0%  เนื่องจากราคาพลังงานโลกที่ลดลง

สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุล 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.0 ถึง 1.0 ของ GDP)

ทั้งนี้ ยังคงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่

  • ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
  • ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ
  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019