ค่าเงินบาท-ดอกเบี้ย ฉุดส่งออกไทยปี 66

07 ก.พ. 2566 | 06:10 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2566 | 07:21 น.

เอกชนห่วงค่าเงินบาท-ดอกเบี้ย ฉุดส่งออกปีนี้ คาดทั้งปีขยายเพียง 1-2% จี้แบงก์ชาติเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงิน ไฟเขียว สรท.เข้าหารือแก้ปัญหาค่าเงินบาท 16 มี.ค.นี้

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 2566 ว่า สรท.คาดการณ์ว่าส่งออกไทยจะขยายตัว 1-2% (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566) โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2565 ได้แก่ ปริมาณสินค้าคงคลังของคู่ค้ายังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้า  ต้นทุนการผลิตยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และจำเป็นต้องส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค 

ค่าเงินบาท-ดอกเบี้ย ฉุดส่งออกไทยปี 66

"สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคา จากประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่ค่าเงินอ่อนค่ามากกว่าไทย และราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ แต่ทั้งนี้มั่นใจค่าเงินที่ผันผวนจะเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ 1-2 เดือนเท่านั้น โดย สรท.จะเข้าพบผู้ว่าแบงก์ชาติประมาณวันที่ 16 มีนาคมนี้ หลังจากที่สรท.ได้ยื่น 5 ข้อเสนอไปเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา"

ค่าเงินบาท-ดอกเบี้ย ฉุดส่งออกไทยปี 66

โดย สรท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐโดยเฉพาะด้านอัตราแลกเปลี่ยนดังนี้ ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)หรือแบงก์ชาติ รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญ ด้านต้นทุนขอให้แบงก์ชาติทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพิ่มมาตรการช่วยเหลือ SMEs ในซัพพลายเชนการส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบดังกล่าวควบคู่กัน

นอกจากนี้ขอให้ภาครัฐควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ในภาคการผลิตแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงพิจารณามาตรการสนับสนุน เพื่ออุดหนุนการใช้พลังงานทางเลือก เช่น มาตรการทางภาษี ลดหย่อนภาษี ในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นทดแทนอาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar), พลังงานหมุนเวียน (Renewable) และพลังงานชีวมวล (Biomass) เป็นต้น และขอให้คณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างรอบคอบ สอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจที่แท้จริง และด้านการค้าระหว่างประเทศ เร่งผลักดันกระบวนการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ให้บรรลุผลโดยเร็ว