การยกเลิกโครงการรถไฟฟ้า"สายสีส้ม"ช่วง บางขุนนนท์ -มีนบุรี (สุวินทวงศ์ ) มูลค่า1.42 แสนล้านบาทในรอบแรก และ เปิดประมูลใหม่รอบสอง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยไม่รอผลตัดสินของศาลปกครองสูงสุดตามที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
กระทั่งได้เอกชนผู้ชนะประมูล ส่วนก่อสร้างงานโยธาในส่วนของสายสีส้มช่วงตะวันตกและสัมปทานเดินรถทั้งระบบ ซึ่งเหลือเพียงรอขั้นตอนที่กระทรวงคมนาคมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบผลการประมูลและลงนามในสัญญา
ตามที่คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟม.) เห็นชอบ ร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ โดยทิ้งส่วนต่างของการขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐสุทธิ 6.8 หมื่นล้านบาท และเกิดข้อกังขาตามมา
ขณะหลายฝ่ายมองการดำเนินการภาครัฐว่า อาจจะมีกระบวนการที่ไม่โปร่งใส่หรือไม่ เริ่มตั้งแต่การออกเกณฑ์เงื่อนไขทีโออาร์ ประมูลรอบ 2 ที่เข้มงวด ทำให้เอกชนจำนวนมากขาดคุณสมบัติ เหลือผู้รับเหมารายใหญ่เพียง2 ราย ที่มีเงื่อนไข ตรงตามทีโออาร์ มีผลงานการก่อสร้างอุโมงค์ และมีผลงานกับรัฐบาลไทยมาไม่น้อยว่า 20 ปี
กังขาผ่านคุณสมบัติ สู่คู่เทียบ
ประเด็นต่อมามีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ถึงผ่านคุณสมบัติจากการเปิดซอง 1 ตามที่รฟม.ประกาศรับรอง ตามเสียงส่วนใหญ่ที่คณะกรรมการตามมาตรา 36ฯ เห็นชอบทั้งที่หนึ่งในกรรมการITD มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องโทษจำคุก
ขัดต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และเปิดไปถึงซองสุดท้าย ข้อเสนอผลตอบแทนต่อภาครัฐ ปรากฏว่า ITD เสนอราคาสูงกว่าราคากลาง
คำถามที่ตามมาคือ เหตุใด รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36ฯ จึงไม่ตรวจสอบและปล่อยผ่านเมื่อเป็นเช่นนี้ อาจเป็นลักษณะเจ้าพนักงานรัฐละเลย รวมถึงการชี้แจงการเปิดซอง ซึ่งตามข้อเท็จจริงอาจแจ้งความดำเนินคดีเจ้าพนักงานรัฐ ข้อหา แจ้งเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137
เช่นเดียวกับข้อสังเกตนาย สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนหน้านี้ที่กังขาว่า ITD มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่และต้องการให้รัฐตรวจสอบ
วงการรับเหมาจี้รัฐตรวจสอบ
แหล่งข่าวจากวงการผู้รับเหมา เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รัฐต้องตรวจสอบ กรณีที่สังคมเคลือบแคลงสงสัย ปล่อยให้ ITD ผ่านคุณสมบัติ จนมาถึงการเปิดซองราคาได้อย่างไร ทั้ง อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับคุณสมบัติเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ นั้น ตามประกาศเชิญชวน ฉบับ ปี 2565
ได้กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอไว้ในข้อ 3 คือต้องมีลักษณะไม่ต้องห้ามตาม PPP เรื่องลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุน พ.ศ. 2562และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564 ในการพิจารณาข้อเสนอ ตามประกาศเชิญชวนฯ ข้อที่ 9.2 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า
“ ในการพิจารณาซองที่ 1 (ด้านคุณสมบัติ ) ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 คือต้องมีลักษณะไม่ต้องห้ามตาม ตามประกาศของคณะกรรมการ PPP เรื่องลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุน พ.ศ.2562 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564 "
ทั้งนี้ในการประเมินซองคุณสมบัติ(ซองที่ 1 ) คณะกรรมการคัดเลือกจะเป็นการประเมินแบบผ่าน/ไม่ผ่าน ซึ่งผู้เสนอต้องมีคุณสมบัติต้องมีความครบถ้วนตามประกาศเชิญชวนข้อที่ 3 มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ผ่านการประเมินซองที่ 1 จะไม่เปิดซองที่ 2 และที่ 3 โดยจะส่งซองข้อเสนอที่ 2 (ด้านเทคนิค) ที่ 3 (ราคาผลตอบแทน และซองที่ 4(อื่น) กลับคืนแก่ผู้ยื่นข้อเสนอ
โดยการตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสารต่างๆ ของผู้ยื่นข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเอกชนนั้น มีประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. 2563 ที่กำหนดไว้อย่างชัดเชนในข้อที่ 8 (3) ออกตาม พรบ.ร่วมทุน มาตรา 32 กำหนด ให้คณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและเอกสารต่าง ๆ ของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 9.2 ที่ระบุไว้ในประกาศเชิญชวนฯ
ดังนี้จะเห็นได้ว่า เป็นหน้าที่อำนาจของคณะกรรมการคัดเลือก ที่จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอ ตามประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. 2563ข้อที่ 8 (3) และหากเห็นว่ามีลักษณะต้องหาตามประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่องลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุน พ.ศ.2562และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564
ถือว่ามีคุณสมบัติห้ามตามข้อ 3 ของประกาศเชิญชวนฯ ปี พ.ศ.2565การพิจารณาคุณสมบัติเกี่ยวกับผู้ยื่นข้อเสนอของคณะกรรมการคิดเลือก จะพิจารณาประเมินได้แค่ผ่าน หรือไม่ผ่านเท่านั้น หากไม่ผ่านก็ต้องไม่เปิดซองที่ 2 ต่อไป เมื่อมีข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และตรวจสอบไม่ยาก ว่า
ผู้ยื่นข้อเสนอคือ ITD มีคุณสมบัติต้องห้ามตามประกาศประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่องลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุน พ.ศ.2562 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564 กรณีผู้บริหาร อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีเสือดำ ก็ต้องประเมินไม่ผ่านและต้องคืนซองที่ 2 ที่ 3และที่ 4 คืนกลับ ITD การที่คณะกรรมการตามมาตรา36ฯ ไม่ดำเนินการตามข้อกำหนด ไว้ในข้อ 9.3 (ต้องพิจารณาให้ไม่ผ่าน )
ในทางกลับกันกลับพิจารณาซองที่ 2 ที่ 3 ต่อไป โดยไม่ตรวจสอบคุณสมบัติ หรือประเมินให้ผ่าน อาจจะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ รวมถึงมีเจตนาให้เหมือนมีการแข่งกันในการประกวดราคา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องถือปฏิบัติตาม พรบ.ร่วมทุน ปี 2562 มาตรา 40
กรณีการประกาศเชิญชวนครั้งใด ถ้ามีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว หรือมีเอกชนยื่นข้อเสนอหลายราย แต่ยื่นข้อเสนอถูกต้องตามรายการในเอกสารสําหรับการคัดเลือกเอกชนเพียงรายเดียว หากคณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่ารัฐจะได้ประโยชน์ก็ให้ดําเนินการตามขั้นตอนที่กําหนดในพระราชบัญญัตินี้ต่อไป
แจงเกณฑ์ PPP รัฐปฏิเสธทำสัญญาเอกชนแจ้งเท็จ
รายงานข่าวจากรฟม. ชี้แจงว่ากรณีที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาให้ ITD Group ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ
ทั้งที่กรรมการคนหนึ่งของ ITD ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ ITD Group เคยได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก ซึ่งเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 นั้น
การดำเนินการยื่นข้อเสนอตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ระบุให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องตรวจสอบและรับรองเอกสารข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอโดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายได้มีการยื่นหนังสือรับรองคุณสมบัติในการเข้าร่วมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอมีความไม่ถูกต้องหรือเป็นเท็จรฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีสิทธิที่จะไม่ยอมรับข้อเสนอ หรือปฏิเสธที่จะทำสัญญากับเอกชนรายนั้นได้
ในประเด็นดังกล่าว ได้มีการพิจารณาและเห็นว่า ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 นั้น ได้กำหนดลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาในโครงการร่วมลงทุน
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีข้อสรุปว่า เมื่อได้ผู้ผ่านการคัดเลือกและพบว่ามีข้อสงสัยในประเด็นตามประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ ดังกล่าว จะได้สอบถามไปยังคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก่อนการประกาศรายชื่อผู้ชนะการคัดเลือกต่อไปในลำดับถัดไป
นอกจากนี้รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอดังกล่าวและดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเคร่งครัดต่อไปสำหรับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ระบุว่า
ผู้ยื่นข้อเสนอที่สนใจจะร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะต้องไม่เป็นเอกชนหรือบุคคลที่มีลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562
ขณะเดียวกันตามประกาศฉบับดังกล่าว ฉบับที่ 2 ปี 2564 ยังระบุอีกว่า ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องนำคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอเพื่อแสดงคุณสมบัติให้สอดคล้องกับที่กำหนด
ด้านหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการคัดเลือก วิธีการและหลักเกณฑ์ในการตัดสินเพื่อจัดทำข้อเสนอของโครงการฯ แบ่งออกเป็น 4 ซอง ประกอบด้วย ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ
ที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของรฟม. โดยข้อมูลในข้อเสนอทั้งหมดต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต่างชาติจะต้องได้รับการรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต้นทางนั้นด้วย
ขณะที่การประเมินข้อเสนอของโครงการฯนั้น ระบุว่า การยื่นและการตรวจรับซองข้อเสนอในเบื้องต้น รฟม.จะตรวจรับเอกสารข้อเสนอ ประกอบด้วย 1.หนังสือมอบอำนาจ 2.หลักประกันซอง 3.ความถูกต้องและความครบถ้วนของเอกสารข้อเสนอตามข้อเสนอที่ระบุไว้ในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เล่มที่ 1
หากเอกสารข้อเสนอไม่ถูกต้องครบถ้วนที่กล่าวมาข้างต้นรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 จะไม่พิจารณาข้อเสนอและส่งคืน โดยผู้ยื่นข้อเสนอไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าสียหายใดๆทั้งสิ้น
ส่วนการพิจารณาข้อเสนอ ซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการตรวจสอบในการรับซองเอกสารข้อเสนอจาก รฟม. แล้ว จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งสอดคล้องตามข้อกำหนดของเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอทุกประการ
ทั้งนี้การประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติจะเป็นการประเมินแบบผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งต้องมีความครบถ้วนและความถูกต้องของเอกสารตามข้อกำหนดของเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 และจะไม่เปิดข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 โดยจะส่งข้อเสนอซองที่ 2 ซองที่ 3 และซองที่ 4 คืน
ITD ตัวแปรประมูลสายสีส้มหักเห
ย้อนไปก่อนหน้านี้ ตัวแปรสำคัญที่เป็นชนวนทำให้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มล่ม และนำไปสู่การแก้ไขเงื่อนเกณฑ์การประมูลระหว่างประมูลรอบแรก จนเกิดการฟ้องร้อง เกิดจาก บริษัท บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD หนึ่งในผู้แข่งขันประมูลงาน ยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2563
เรื่องการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์โดยเห็นว่าโครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ที่เอกชนมีหน้าที่รับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ลงทุนจัดหาระบบรถไฟฟ้า
ให้บริการรถไฟฟ้า 30 ปี และเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูงมากในการก่อสร้างงานโยธาฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งสายที่ต้องขุดเจาะอุโมงค์และสถานีในพื้นที่ชุมชน ผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์และมีโบราณสถานและสถานที่สำคัญรวมถึงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น