ดัชนีความเชื่อมั่นชายแดนใต้กลับมาเชื่อมั่นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส

09 ก.พ. 2566 | 08:01 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2566 | 08:15 น.

พาณิชย์ เผย ดัชนีความเชื่อมั่นชายแดนใต้กลับมาเชื่อมั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส หลังประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ความมั่นคงดีขึ้น แต่ประชาชนยังห่วงเรื่องค่าครองชีพ การมีงานทำ การแก้ปัญหาสินค้าเกษตร

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ ไตรมาส 4/2565 ที่สนค.ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคภาคใต้ (ศอ.บต.) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 30,738 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 54.57 เพิ่มขึ้นจาก 53.77 ในไตรมาส 3/2565 เป็นการปรับขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจในไตรมาส 1/2564 ที่อยู่ที่ระดับ 52.74

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

 

โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในปัจจุบัน ปรับตัวมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่น หรือเกินระดับ 50 ในรอบ 7 ไตรมาสหรือ1ปี9เดือน เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง 

 

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นฟื้นตัวขึ้น มาจากการที่ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น เนื่องจากการจ้างงานและรายได้ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานกลางแจ้งได้ โดยเฉพาะการกรีดยางพารา ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงการทำงานอย่างเข้มงวดของฝ่ายรักษาความมั่นคง ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น”

ดัชนีความเชื่อมั่นชายแดนใต้กลับมาเชื่อมั่นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อจำแนกรายจังหวัด พบว่า อยู่ในช่วงเชื่อมั่นทุกจังหวัด และปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดสงขลาที่ปรับลดลงเล็กน้อย โดยจังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นโดยรวมสูงสุด อยู่ที่ระดับ 60.39 รองลงมา คือ จังหวัดสงขลา ระดับ 55.31 ปัตตานี ระดับ 53.70 นราธิวาส ระดับ 53.21 และยะลา ระดับ 52.84

ส่วนผลการสำรวจปัญหาที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด ยังคงเป็นปัญหาเรื่องค่าครองชีพ หรือสินค้าและบริการ     มีราคาสูง และปัญหารายได้ตกต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนด้านการลดภาระค่าครองชีพ การมีงานทำและรายได้ รวมถึงการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร ขณะที่สถานการณ์ด้านภัยธรรมชาติ มลพิษ และความเพียงพอของสินค้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นปัญหา
         

พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.

ด้านพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น มาจากประชาชนมีรายได้มากขึ้น มีงานทำมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 แรงงานไทยที่ไปทำงานมาเลเซีย และกลับมาไทยกว่า 17,000 คน มีงานทำมากกว่า 15,000 คน เพราะศอ.บต. หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในและนอกพื้นที่ ได้เร่งสร้างงาน สร้างรายได้ เช่น ส่งไปทำงานในโรงงานต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการพัฒนาอาชีพ ช่วยส่งเสริมการค้าขายออนไลน์ ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น และขณะนี้การท่องเที่ยวฟื้นตัว และมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่มากขึ้น เช่น การแข่งวิ่งเทรล ที่เบตง จ.ยะลา ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น  
         ส่วนสาเหตุที่ จ.ยะลา มีดัชนีความเชื่อมั่นทุกด้านต่ำที่สุดใน 5 จังหวัด เพราะยะลาได้รับผลกระทบจากความไม่สงบมากที่สุด มีประชาชนอยู่ในเกณฑ์ยากจนสูง จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด แต่อย่างน้อยเป็นสัญญาณที่ดี ที่ทุกภาคส่วนควรมุ่งสรรพกำลังไปช่วยเหลือประชาชนยะลาให้มากที่สุด เพื่อให้อยู่ดีกินดี และมีความเชื่อมั่นมากขึ้น