การจัดเก็บรายได้ภาครัฐของไทยที่มีสัดส่วนประมาณ 14-15% ของจีดีพี ถือว่าตํ่ากว่าศักยภาพเศรษฐกิจมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยุโรปที่มีสัดส่วนสูงถึง 20-24%ของจีดีพี และหากเทียบกับการขาดดุลงบประมาณปีละ 7-8 แสนล้านบาท สัดส่วนการจัดเก็บรายได้ภาษีควรจะอยู่ที่ 18-20%ของจีดีพี รัฐบาลจึงมีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การปฏิรูปโครงสร้างภาษี จะเป็นการดำเนินการทั้งแพ็คเกจ ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่ลดภาษีลงและปรับเพิ่มอัตราภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อม ลํ้าและเพิ่มรายได้ให้กับรัฐด้วย ซึ่งจังหวะเวลาในการปรับขึ้นหรือลดอัตราภาษีนั้น ดำเนินการไม่พร้อมกัน จะต้องมีการทยอยทำ
อย่างไรก็ดี ความมั่นคงของนโยบายของรัฐ เมื่อเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างภาษีแล้ว ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคของรัฐบาลนั้นๆ ซึ่งการปฏิรูปภาษีไม่สามารถปฏิรูปเฉพาะเรื่องการจัดเก็บรายได้เท่านั้น จะต้องดำเนินการปฏิรูปด้านรายจ่ายด้วย เพราะหากมีการตั้งงบประมาณขาดดุล 7-8 แสนล้านบาทอย่างต่อเนื่อง จะทำให้หนี้สาธารณะปรับเพิ่มสูงขึ้น
“การดำเนินงานของกระทรวงการคลังมีวินัยการเงินการคลังมาโดยตลอด ซึ่งการขาดดุลต้องไม่เกิน 3% ซึ่ง 2-3 ปีนี้มีการผ่อนปรณในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่ปี 2567 กำหนดให้กลับมาเข้ากรอบเดิมที่ไม่เกิน 3% และในอนาคตกระทรวงการคลังวางเป้าหมายไว้ว่า การขาดดุลงบประมาณต้องไม่เกิน 3%” นายกฤษฎากล่าว
ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า สิ่งที่ดำเนินการเช่นนี้อาจทำให้ภาระทางการคลังลดลงไปเรื่อยๆ แต่จะยังไม่เข้าสู่สมดุล ฉะนั้นต้องมีการลดรายจ่ายลงและเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ซึ่งจะทำให้การคลังเข้าสู่ภาวะสมดุลได้เร็วขึ้นเช่น เบี้ยคนชรา ที่่ผ่านมาใช้งบประมาณสำหรับดูแลผู้สูงอายุเพียง 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ขณะนี้มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ในปีงบประมาณ 2567 ได้ตั้งงบดูแลผู้สูงอายุกว่า 9 หมื่นล้านบาท จึงต้องไปลดภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ประกันรายได้ ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ
“อดีตที่ผ่านมาใช้งบประมาณในโครงการประกันรายได้ 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ช่วง 2 ปีนี้ใช้งบประมาณในโครงการประกันรายได้ถึงปีละ 1.5 แสนล้านบาท ถือว่าเติบโตขึ้นเยอะมาก จึงต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลง ซึ่งโชคดีที่ปีงบประมาณ2566 ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ถ้าหากราคาสินค้าเกษตรลดลง จะมีภาระที่จะต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มขึ้น” นายกฤษฎากล่าว
ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรมจัดเก็บภาษีทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ได้นำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการดำเนินการเป็นอย่างมาก และขณะนี้ยังสามารถเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มออนไลน์ได้แล้ว
อย่างไรก็ดียอมรับว่า ในปีงบประมาณ 2566 กรมสรรพสามิตอาจจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากการลดภาษีนํ้ามันดีเซล เพื่อช่วยเหลือเรื่องราคาพลังงาน บรรเทาภาระประชาชน
“เรามีการพัฒนาระบบเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น กรมสรรพสามิต ก็มีความชัดเจนเรื่องการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ก็ใช้ระบบไอทีมาดำเนินการทั้งหมดและเก็บภาษีจากผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งหมดอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทก็พร้อมให้ความร่วมมือ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบการจัดเก็บได้จากในข้อมูลโรงงาน”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องมีความเข้มงวดขึ้น คือการปราบปรามการลักลบนำเข้าสินค้าเถื่อน ซึ่งขณะนี้ได้สั่ง 3 กรมภาษี ทั้งกรมสรรพากร สรรพสามิต และกรมศุลกากร ให้เข้าไปดูเรื่องการปราบปรามและป้องกันเรื่องเหล่านี้ เพราะช่วงหลังมีสินค้าเถื่อนผุดออกมาเรื่อยๆ ซึ่งถือว่า เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บรายได้ด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้กำหนดแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) โดยตั้งเป้าหมายการขาดดุลในปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 5.93 แสนล้านบาท คิดเป็น 3% ต่อจีดีพี ลดลงจากการขาดดุลในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งอยู่ที่ 6.95 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 3.7% ต่อจีดีพี ขณะที่การขาดดุลงบประมาณ 2568 จะลดลงอีกอยู่ที่ 2.84% ก่อนจะลดลงเหลือ 2.81% ในปีงบประมาณ 2569 และเหลือ 2.79% ในปี 2570
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3859 วันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2566