รัฐบาลเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศและพัฒนาเมือง กระจายความเจริญลงสู่ภูมิภาคและหัวเมืองสำคัญ
ล่าสุด รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทางประมาณ 35.85 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 56,035 ล้านบาท ที่ผ่านมาโครงการฯได้ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) แล้ว ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบหลักการของโครงการฯ ภายในปีนี้
หลังจากนั้นกรมทางหลวง (ทล.)จะตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เพื่อดำเนินการจัดทำร่างเอกสารประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (RFP) คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในสิ้นปี 2566 ได้ตัวผู้ชนะประมูลภายในปี 2567 หลังจากนั้นจะลงนามสัญญาและดำเนินการก่อสร้าง ภายในปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้างกว่า 3 ปี เปิดให้บริการประมาณปี 2571 ส่วนรูปแบบการลงทุนของโครงการฯ จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุน PPP Netcost โดยเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง งานระบบและจัดเก็บค่าผ่านทาง (O&M) ขณะที่ภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี
สำหรับแนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 ด้านทิศใต้, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุน เทียน-บ้านแพ้ว และทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานครแนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านทางรถไฟสายแม่กลอง มีทางขึ้น-ลง พระราม 2 ทางขึ้นเชื่อมกับถนนเอกชัย ถนนกัลปพฤกษ์ ถนนเพชรเกษม ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ถนนบรมราชชนนี ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และถนนนครอินทร์ ทางแยกต่างระดับบางใหญ่เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่- กาญจนบุรี จากนั้นขนานไปกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ผ่านสถานีตลาดบางใหญ่ สถานีคลองไผ่ บางบัวทองและสิ้นสุดโครงการบริเวณห่างจากทางแยกต่างระดับบางปะอิน
ทั้งนี้ตลอดเส้นทางมีด่านเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 15 แห่ง ประกอบด้วย 1.ด่านพระราม 2 2.ด่านเอกชัย 3.ด่านกัลปพฤกษ์ 4.ด่านเพชรเกษม 5.ด่านพรานนกพุทธมณฑล 6.ด่านบรมราชชนนี 7.ด่านนครอินทร์ 8.ด่านบางใหญ่ 9.ด่านบางบัวทอง 1 10.ด่านบางบัวทอง 2 11.ด่านลาดหลุมแก้ว 1 12.ด่านลาดหลุมแก้ว 2 13.ด่านสามโคก 1 14.ด่านสาม โคก 2 15.ด่านเชียงรากน้อย
สำหรับความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 31,375.95 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธาและงานระบบ 31,303 ล้านบาท และค่าเวนคืน 72.95 ล้านบาท ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) พิจารณา หากคณะกรรมการ PPP เห็นชอบแล้ว หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 2566 ได้ตัวผู้ชนะและลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนภายในปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2568 ระยะเวลาการก่อสร้าง 4 ปี และจะเปิดให้บริการปี 2571ขณะเดียวกันโครงการนี้มีการลงทุนในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) โดย ทล. จะเป็นผู้ลงทุนการก่อสร้างงานโยธา และจ้างเอกชนบริหารจัดการ อายุสัมปทาน 30 ปี
ส่วนรูปแบบโครงการเป็นทางยกระดับตามแนวถนนพหลโยธิน 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 7 แห่งดังนี้ 1.จุดเชื่อมต่อบริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางด่านรังสิต 1 2.ด่านรังสิต 2.จุดขึ้น-ลง ด่านรังสิต 2 3.จุดขึ้น-ลง ด่านคลองหลวง 4.จุดขึ้น-ลง ด่าน ม.ธรรมศาสตร์ 5.จุดขึ้น-ลง ด่านนวนคร 6.จุดขึ้น-ลง ด่านวไลยอลงกรณ์ และ 7.จุดขึ้น-ลง ด่านประตูน้ำพระอินทร์ โครงการนี้จะมีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) หรือ M-Flow
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับดอนเมืองโทลเวย์ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของทางหลวงหมายเลข 1 หรือถนนพหลโยธิน) และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+800 ของทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้โดยตรงกับ มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และ อ.บางปะอิน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา