เศรษฐกิจไทย “พึ่งจีน” มากแค่ไหน ทำไมต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

13 ก.พ. 2566 | 08:14 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2566 | 08:34 น.

จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ขณะในปี 2565 จีนเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยมากสุด และก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โควิดในปี 2563 จีนก็เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย แค่ 3 ภาคเศรษฐกิจหลักนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาจีนไม่น้อยแน่นอน

เศรษฐกิจไทย “พึ่งจีน” มากแค่ไหน ทำไมต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

บทความโดย : "นายหัวอัทธ์"

การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ฟื้นตัวหรือขยายตัวตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.5% (สภาพัฒน์ฯ) จากที่ปี 2565 ขยายตัวเพียง 3.1% เท่านั้น (ต่ำสุดในประเทศอาเซียนเก่า) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเข้ามาในไทย หลังจากจีนเปิดประเทศเมื่อวันที่  6 กุมพาพันธ์ 2566

หากดูตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยทั้งหมดในปี 2562 มีจำนวน 39 ล้านคน เงินเข้าประเทศ 1.9 ล้านล้านบาท เป็นนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยทั้งหมด จำนวน 11 ล้านคน คิดเป็น 31% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศไทย คิดเป็นเงินที่เข้ามาในประเทศจากนักท่องเที่ยวจีน 5 แสนล้านบาท

ปีนี้ประเทศไทยตั้งเป้าว่า จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา 5 ล้านคน จำนวนเงินที่คาดว่าเข้ามาจับจ่ายใช้สอยน่าจะเป็น 50% ของค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวจีนปี 2562 หรือประมาณ 250,000 ล้านบาท  โดยค่าใช้จ่ายที่นักท่องเที่ยวจีนจับจ่ายใช้สอยในไทย เกินร้อยละ 70 เป็นค่าใช้จ่ายในการช้อปปิ้งซื้อสินค้าสัดส่วน 31% ค่าโรงแรมและที่พัก 25% และค่าอาหาร 19% ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายด้านบันเทิง และท่องเที่ยว เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า เงินของคนจีนจ่ายไปกับการซื้อสินค้ามากที่สุด โดยผลประเมินว่า ปัจจัยที่ทำให้คนจีนตัดสินใจซื้อสินค้าไทย (ขณะอยู่ในประเทศไทย) มี “5 ปัจจัยหลัก” คือ 1.สินค้าที่ไม่มีขายในประเทศจีน 2.สินค้าที่มีขายในจีน แต่มีความแตกต่าง เช่น ผ้าไหม เสื้อมอฮ่อม

3.ราคาสินค้ามีความเหมาะสม ไม่แพงเกินไป 4.ราคาแพงไม่ว่า แต่คุณสมบัติต้องดี มีประโยชน์ คุณภาพดี การออกแบบที่น่าสนใจ และมีความปลอดภัย และ 5.สินค้าที่มีดารา คนดัง เป็นพรีเซนเตอร์

โดยมีกลุ่มสินค้าที่คนจีนจะซื้อคือ “7 กลุ่มสินค้า” 1.กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะผลไม้แปรรูป 2.กลุ่มสินค้าสมุนไพร ครีมทาผิว อาบน้ำ ที่มีส่วนหรือสารสำคัญของสมุนไพร  3.กลุ่มสินค้าผู้สูงอายุ ที่เน้นสุขภาพ อาหารสุขภาพ ยาดม 4.กลุ่มสินค้าดูแลสุขภาพ  เครื่องสำอาง และอาหารสุขภาพ 5.สินค้าสายมู พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง  6.สินค้าที่อยู่บนออนไลน์ ที่นำเสนอแล้วคนจีนรับทราบขณะอยู่ประเทศจีน และ 7.สินค้าที่มีนวัตกรรม ไม่เหมือนใคร รูปลักษณ์ รักษ์โลก

เศรษฐกิจไทย “พึ่งจีน” มากแค่ไหน ทำไมต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตามผมประเมินว่าปี 2566 นักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาประมาณ 3-3.5 ล้านคน โดยฐานการคิดมาจาก นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเดือนละ 2 แสนคน เราเหลืออีก 11 เดือน แสดงว่า นักท่องเทียวจีนจะเข้ามา 2.2 ล้านคน เหตุผลที่ผมประเมินต่ำกว่าที่ทางการไทยคาดการณ์เพราะข่าวคราวที่เกิดขึ้นในไทยเกี่ยวกับทุนจีน ข่าวตำรวจไทย รวมถึงสถานการณ์โควิดในประเทศที่ไม่มีใครประเมินได้ว่ารุนแรงแค่ไหน (ทางการค้าจีนกับนอกประเทศจีนให้ข้อมูลและประเมินที่แตกต่างกัน)

ผมยังได้คำนวณว่า ถ้านักท่องเที่ยวจีนเข้ามา 1% มีผลต่อ GDP ไทยถึง 0.3% นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาไทย นอกจากรายได้จากการนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาไทยแล้ว ในปี 2565 การลงทุนต่างประเทศ หรือ FDI ของจีน มาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้า FDI ญี่ปุ่น ที่ครองแชมป์มาหลายสิบปี คิดเป็นเงินลงทุน 7 หมื่นล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่จีนขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 เป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และรถไฟจีนในไทย จากเดิมที่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราและชิ้นส่วนรถยนต์ ก่อนโควิด

หากจำกันได้ ธุรกิจจีนจะเฟื่องฟูในประเทศไทยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจบริการ ได้แก่ ค้าส่งค้าปลีก โลจิสติกส์ โรงแรมที่พักอาศัย และการบริการให้คำปรึกษา คิดเป็นเม็ดเงิน 7 แสนกว่าล้านบาท โดยธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารมีสัดส่วนมากที่สุด 35% ตามด้วยโลจิสติกส์ และค้าส่งค้าปลีก ตามลำดับ และเมื่อรวมกับมูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดจีน ปี 2565 ไทยส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วน 12% มูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท

เมื่อรวมทุกกิจกรรมเศรษฐกิจที่สามารถมีตัวเลขบันทึกได้ ทำให้ปี 2565  “เศรษฐกิจไทยพึ่งพาจีนมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 16 % ของ GDP ไทย” และหากรวมถึงผลของตัวคูณ (Multiplier Effect) เงินจีนและตลาดจีนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ถึง 5 ล้านล้านบาท หรือ 30% ของ GDP (ใช้ Multiplier 1.2) คงไม่ต้องแปลกใจนะครับว่า ทำให้เราจึงต้องให้ความสนใจตลาดจีนและนักท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ