ครม.อนุมัติวิทยุการบินฯลงทุน 1.25 พันล้าน พร้อมเปิดสนามบินอู่ตะเภา

14 ก.พ. 2566 | 09:55 น.

ครม.อนุมัติ บ.วิทยุการบินฯ ลงทุน 1.25 พันล้านบาทดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมให้บริการเดินอากาศ ณ สนามบินอู่ตะเภา โดยคลังไม่ค้ำประกันวงเงินกู้

14 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนรี(ครม.) ได้อนุมัติการดำเนินโครงการจัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการเดินอากาศ ณ สนามบินอู่ตะเภา ของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด วงเงินลงทุน 1,256 ล้านบาท

พร้อมกับอนุมัติการจัดหาแหล่งเงินลงทุนสำหรับโครงการจากเงินกู้ระยะยาววงเงิน 1,256 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันวงเงินกู้ และให้กระทรวงคมนาคมรับข้อคิดเห็นของหน่วยงานเกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

สำหรับการดำเนินโครงการฯ จะเป็นการเตรียมความพร้อมในการให้บริการเดินอากาศ ณ สนามบินอู่ตะเภา ให้สามารถเปิดให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐานภายในปี 2568 และให้สอดคล้องตามกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกซึ่งเป็นโครงการรองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเป็นสนามบินหลักหลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศอยู่ที่ 241,100 เที่ยวบิน ในปี 2591 โดย บวท.จะให้บริการ 4 ด้าน ประกอบด้วย การบริการจัดการจราจรทางอากาศ, บริการระบบสื่อสาร ระบบช่วยการเดินอากาศและระบบติดตามอากาศยาน, บริการข่าวสารการบิน และบริการออกแบบวิธีปฏิบัติการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน

สำหรับขอบเขตการดำเนินโครงการจะประกอบด้วย 4 ด้าน

1.ด้านก่อสร้าง ประกอบด้วย

  • หอควบคุมการจราจรทางอากาศและพ้นที่สนับสนุน ความสูงประมาณ 59 เมตร
  • อาคารสำหรับติดตั้งระบบ/อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการเดินอาหาร ประกอบด้วยอาคาร 3 กลุ่ม ได้แก่ อาคารระบบวิทยุสื่อสาร (Communication) อาคารระบบช่วยการเดินอากาศ(Navigation) และอาคาระบบติดตามอากาศยาน(Surveillance)

2.ด้านการจัดหาและติดตั้งระบบและอุปกรณ์ ประกอบด้วย

  • ระบบบการสื่อสาร (Communication System)
  • ระบบติดตามอากาศยาน(Surveillance System)
  • ระบบจัดการจราจรทางอากาศ(Air Traffic Management System :ATMS)
  • ระบบสนับสนุนอื่น ๆ  

3.ด้านบุคลากร ประกอบด้วย

  • การสรรหาบุคลากรและพัฒนาบุคลากร ประกอบด้วยพนักงานประจำ 79 อัตรา เช่น เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศบริเวณสนามบิน, เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศเขตประชิดสนามบินกรุงเทพ และวิศวกร พนักงานชั่วคราว(Outsource) 30 อัตรา ซึ่งจะปฏิบัติงานในส่วนสนับสนุน เช่น ไฟฟ้า โยธา แม่บ้าน รักษาความปลอดภัย

4.การเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการ

  • การกำหนดขั้นตอนและแนวทางวิธีปฏิบัติ
  • การอบรมใช้อุปกรณ์และอบรวมทำความคุ้นเคยแนวทางวิธีปฏิบัติ
  • การดำเนินการด้านระบบการจัดการด้านนิรภัย

ทั้งนี้ บวท.ได้ประเมินผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ จะมีอัตราผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 4.26 ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจร้อยละ 56.96

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์จากโครงการ ได้แก่ การสร้างโอกาสในการจ้างงาน การท่องเที่ยว และเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจการเพิ่มความปลอดภัยทางการบินในพื้นที่ เพิ่มความสามารถในการรองรับเที่ยวบินในบริเวณกรุงเทพฯ และลดการกระจุกตัวของเที่ยวบินและลดความล่าช้าให้กับเที่ยวบิน