กระทรวงคมนาคมพลิกโฉมการให้บริการเดินรถใหม่โดยมุ่งเน้น ไปที่รถโดยสารอีวี เพื่อลดผลกระทบมลพิษทางอากาศล่าสุด นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าแผนปฏิรูปเดินรถ 77 เส้นทาง หลังจากกรมฯได้มีการคัดเลือกผู้ประกอบการเดินรถเพื่อออกใบอนุญาตนั้น
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเดินรถที่ได้รับใบอนุญาตจาก"กรมขนส่ง"และดำเนินการเข้าบรรจุรถครบทั้ง 77 เส้นทางแล้ว จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด, บริษัทเอ็กซา โลจิสติกส์ จำกัด และ บริษัทราชาโร้ด จำกัด โดยมีรถที่รับการบรรจุในเส้นทางดังกล่าวแล้วประมาณ 800-900 คัน
การบรรจุในครั้งนี้เป็นการบรรจุรถโดยสารอีวีทั้งหมด โดยผู้ประกอบการได้มีการปรับปรุงการให้บริการ, การติดตั้งระบบจีพีเอส รวมทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อให้บริการประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตามหลังจากผู้ประกอบการเดินรถบรรจุรถโดยสารอีวีครบทั้ง 77 เส้นทางแล้ว เบื้องต้นผู้ประกอบการฯจะต้องพิจารณาเส้นทางใดบ้างที่มีศักยภาพ สามารถเพิ่มจำนวนรถที่ให้บริการตามที่กรมขนส่งทางบกกำหนดไว้ ในการรองรับความถี่ด้านการเดินรถหรือสามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถ เพื่อให้บริการรถแก่ประชาชนได้
โดย กรมฯพยายามกำกับให้ผู้ประกอบการฯ จัดทำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบการนับผู้โดยสารอัตโนมัติ รวมทั้งระบบจีพีเอส เพื่อประเมินข้อมูลสถานที่ใดบ้างที่ผู้ใช้บริการมีความต้องการใช้รถมากหรือน้อย จะทำ ให้การบริการรถสาธารณะดีขึ้น
ส่วนการบรรจุรถนอกเหนือจาก 800-900 คันนั้น ปัจจุบันทางบริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ได้ร่วมบูรณาการ ร่วมกับผู้ประกอบการรายเดิมที่อยู่ในระบบ ซึ่งมีแผนทยอยเปลี่ยนเป็นรถโดยสารอีวี และเพิ่มจำนวนรถที่ให้บริการประมาณ 300-400 คัน
ขณะเดียวกันตามแผนปฏิรูปเส้นทางเดิน รถในปี 2566 มีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเดินรถรายเดิมต้องเข้ารับบรรจุรถ คิดเป็น 30% ใน 53 เส้นทาง ที่กรมฯได้เยียวยาให้แก่ผู้ประกอบการเดินรถรายเดิม คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถเพิ่มจำนวนรถโดยสาร จำนวน 1,850 คัน โดยผู้ประกอบการฯจะต้องแจ้ง กับกรมฯ เพื่อขออนุญาตบรรจุรถในแต่ละเส้นทางด้วย
“ส่วนผลตอบรับการเปิดให้บริการในบางเส้นทางนั้น มีผลตอบ รับที่ดีทั้งการให้บริการและจำนวนรถโดยสารที่ให้บริการ แต่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายรถโดยสาร อาจจะมีรถที่ให้บริการน้อยไปบ้าง แต่ปัจจุบันมีการเพิ่ม จำนวนรถโดยสารครบถ้วนแล้ว ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการได้รับความสะดวกมากขึ้น”
สำหรับเอกชนผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานเดินรถทั้ง 6 เส้นทาง จาก 77 เส้นทาง คือ บริษัทเอ็กซา โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัทราชาโร้ด จำกัด ประกอบด้วย
1. สาย S3 (สาย 559 เดิม) รังสิต-สวนสยาม-ท่าอากาศ ยานนานาชาติสุวรรณภูมิ (ทางด่วน)
2. สาย S4 (สาย 549 เดิม) มีนบุรี-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ
3. สาย S5 (สาย 550 เดิม) แฮปปี้แลนด์-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ
4. สาย S6 (สาย 555 เดิม) สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ (ทางด่วน)
5. สาย 3-3 (สาย 11 เดิม) สวนหลวง ร.9-สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ และ
6. สาย 3-34 (ใหม่) บางนา-นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง
ส่วน 71 เส้นทางที่ บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ได้รับอนุมัติให้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง เช่น สาย 1-2E (สาย 34 เดิม) รังสิต-หัวลำโพง (ทางด่วน), สาย 1-31 (ใหม่) ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ-คลองหลวง, สาย 1-32E (ใหม่) บางเขน-สถานีรถไฟฟ้าตลาดพลู (ทางด่วน) , สาย 1-33 (ใหม่) บางเขน-สถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ,สาย 1-37 (สาย 27 เดิม) มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย 2-18E (ใหม่) ท่าอิฐ-มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ทางด่วน)
สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) แฮปปี้แลนด์-ท่าเรือสะพานพุทธ,สาย 3-45 (สาย 77 เดิม) พระราม 3-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร), สาย 3-53 (ใหม่) สถานีรถไฟฟ้าหัวหมาก-เสาชิงช้า, สาย 3-55 (ใหม่) ท่าเรือคลองเตย-พระราม7, สาย 4-46 (สาย 84 เดิม) วัดไร่ขิง-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี, สาย 4-55 (สาย 163 เดิม) สถานีรถไฟศาลายา- สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ, สาย 4-67 (ใหม่) สถานีรถไฟศาลายา- กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ
นอกจากนี้ในอนาคตกรมฯ มีแผนจะปรับเพิ่มเส้นทางเดินรถนอกเหนือจากแผนปฏิรูปทั้ง 77 เส้นทาง หลังจากที่มีการบรรจุรถใหม่แล้ว เบื้องต้นจะนำข้อมูลจากระบบ AI มาวิเคราะห์แนวเส้นทางที่มีการเกิดชุมชนใหม่ๆ รวมทั้งบริเวณที่ประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพื่อกำหนดเส้นทางใหม่ สอดรับความต้องการผู้ใช้บริการ โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 6 เดือน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้