นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า สำหรับกรณีที่นายชูวิทย์ กมลศิษฐ์ ตั้งข้อสังเกตการทุจริตในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้ง 5 สถานีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีผู้ฟ้องคดี คือ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 หากดูสถานะของคดีในศาลปกครองพบว่ามีทั้งหมด 3 คดี คือ 1.คดีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.คดีการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผลคำพิพากษาออกมาแล้ว 3.คดีการประมูลครั้งใหม่ที่มีการล็อคสเปคกีดกันการแข่งขัน
ส่วนคดีที่อยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำนวน 1 คดี คือ คดีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลโดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนนด้านเทคนิคเป็นร้อยละ 30 ด้านการลงทุนและผลตอบแทนเป็นร้อยละ 70 เป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอใหม่ และการประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ซึ่งทุกคดีที่กล่าวมานั้นสอดคล้องกับคดีที่อยู่ในกระบวนการศาลทั้งสิ้น
ทั้งนี้การต่อสู้ทางกฎหมาย เป็นกติกาที่สังคมต้องยอมรับ เมื่อคำพิพากษาสูงสุดของศาลปกครองเป็นอย่างไรก็ต้องดำเนินการตามตามนั้น ส่วนการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมายและการยกเลิกการประมูลโครงการฯมีคำตัดสินของศาลปกครองกลางแล้ว ซึ่งมีการนั่งพิจารณาคดี โดยตุลาการศาลปกครองสูงสุด คาดว่าคำพิพากษาจะออกมาเร็วๆนี้ รฟม.เชื่อมั่นคำให้การของรฟม.เองที่ส่งให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาถึงความหนักแน่นกระบวนการที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามกฎหมาย
“ส่วนกรณีที่มีหลักฐานการรับเงินทอนในโครงการฯดังกล่าว จำนวน 30,000 ล้านบาทที่เข้ากระเป๋าเงินในบัญชีธนาคาร HSBC ที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะเรื่องดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงว่ามีการวิ่งเต้นคำพิพากษาเพื่อประโยชน์นั้น การกล่าวหาในครั้งนี้น่าจะใกล้เคียงพูดหมิ่นเหม่ละเมิดต่อศาล ไม่แน่ใจว่าหากศาลปกครองมีการดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าว จะได้รับความเมตตาจากศาลหรือไม่ ส่วนกรณีที่มีการกล่าวถึงการล็อคสเปคการก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยืนยันว่ารฟม.และกระทรวงคมนาคมดำเนินการด้วยความโปร่งใส สิ่งที่คุณพูดนั้นไม่แน่ใจเป็นประสบการณ์ของคุณในการทำธุรกิจสีเทาดั้งเดิมหรือไม่”
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่มีการประมูลครั้งใหม่มีการล็อคสเปคผู้รับเหมาก่อสร้างในไทยที่มีแค่ 2 รายนั้น คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง แต่บีทีเอสซีได้มีการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้รฟม.ดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการคัดเลือกครั้งใหม่ ซึ่งเป็นการฟ้องร้องก่อนที่จะเกิดขึ้นก่อนการเปิดรับซองข้อเสนอโครงการฯ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565ซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้มีการพิจารณาคำร้องของบีทีเอสซีในตุลาการศาลปกครองกลาง รวมทั้งมีการไต่สวนคู่ความ โดยรฟม.มีการแสดงหลักฐานและเอกสารต่างๆ
ทั้งนี้ในที่ประชุมในตุลาการฯมีการพิจารณาแล้วพบว่าการประกาศเชิญชวนฯและเอกสารคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยลักษณะการประมูลในครั้งนี้มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมการคัดเลือกมากกว่าการประกาศเชิญชวนในครั้งแรก อีกทั้งในประกาศดังกล่าวไม่ได้มีการกีดกันการแข่งขันกับผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีสามารถหาผู้รับจ้างงานโยธามาร่วมยื่นข้อเสนอได้ แต่ปรากฏว่าในวันที่ยื่นข้อเสนอบีทีเอสซี เป็นผู้ซื้อซองข้อเสนอ แต่ไม่ได้มีการยื่นข้อเสนอ ซึ่งศาลปกครองมีการยืนยันว่าบีทีเอสซีสามารถยื่นข้อเสนอร่วมโครงการฯได้ โดยที่ไม่ได้กีดกันบีทีเอสซี
สำหรับการประมูลของโครงการฯในครั้งนี้มีการเปิดกว้างแก่ผู้รับเหมาจากต่างประเทศที่ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินเดินรถหลายราย โดยกำหนดให้ผู้รับเหมาต้องมีผลงานในไทย พบว่ามีเอกชนที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ทั้งหมด 10 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR 4.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UN 5.บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด 6.Bilfinger Berger 7. Tokyu 8.Kumagai 9.Obayashi, และ 10.Nishimatsu