“รฟม.” ปัด คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มส่อฮั้วประมูล ลุ้น ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา

16 ก.พ. 2566 | 10:07 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2566 | 10:15 น.

“รฟม.” โต้ สุรเชษฐ์ ส.ส.ก้าวไกล ปมคดีเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่-ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยันรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา หลังรมว.คมนาคมเบรกเซ็นสัญญาร่วมเอกชน

นายภคพงศ์  ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่ากรณีที่ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้มีการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี

โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น 

“รฟม.” ปัด คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มส่อฮั้วประมูล ลุ้น ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา

รฟม.ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า กรณีเห็นชอบในการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 ซึ่งบีทีเอสซีได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 300/2564 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ BTSC ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมและการเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1
 

ทั้งนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 192/2565 พิพากษายกฟ้อง ในข้อหาที่ BTSC ฟ้องว่าการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ฯ เป็นการละเมิด เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท ปัจจุบันข้อหานี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากคู่ความได้ยื่นอุทธรณ์

ส่วนคำวินิจฉัยที่พรรคก้าวไกลกล่าวอ้างว่า ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่า  การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเป็นการกระทำที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ปรากฏในคำพิพากษาคดีดังกล่าวศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้อง และเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก

โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ดำเนินการแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าวไม่จำต้องรับฟังความเห็นของเอกชนใหม่ และไม่ทำให้ BTSC ได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการละเมิดต่อ BTSC แต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา
 

นายภคพงศ์  กล่าวต่อว่า ขณะที่การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก บีทีเอสซีได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงสรุปว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว 
สำหรับเหตุผลการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

1. คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 
2.การใช้ดุลพินิจยกเลิกการคัดเลือก เป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเพื่อให้โครงการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ตามกรอบระยะเวลา อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนในการจัดทำบริการสาธารณะแล้ว

เมื่อการยกเลิกการคัดเลือกชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ตุลาการผู้แถลงคดีจึงเห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยเห็นควรให้ยกฟ้อง แต่คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา

สำหรับการดำเนินการประกาศเชิญชวนฯและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในมาตรา 35 ถึงมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนตามาตรา 41 เรียบร้อยแล้ว 

ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไป รฟม. จะรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่บีทีเอสซีเป็นผู้ฟ้องคดี มาประกอบเรื่องเพื่อเสนอนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เคยแนะนำให้รฟม.รอฟังคำพิพากษาจากศาลฯสิ้นสุดลง

ก่อนลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนผู้ชนะการประมูลโครงการฯ และค่อยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป

นายภคพงศ์  กล่าวต่อว่า ส่วนการกีดกันบีทีเอสซี ไม่ให้เข้าร่วมการประมูลการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่นั้น บีทีเอสซี ได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1646/2565 โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามที่ บีทีเอสซี ร้องขอ 

ขณะเดียวกันที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า 
1. การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนและประกาศเชิญชวนฯ ได้ดำเนินการตามที่ได้กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. 2563
2. ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวที่ได้กำหนดคุณสมบัติให้มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธา ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
3. ประกาศเชิญชวนฯ มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 

4. ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกันบีทีเอสซีไม่ให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ จึงรับฟังไม่ได้ว่าประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวเป็นคำสั่งศาลปกครองทั่วไปที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจถือได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถหาผู้รับจ้างงานโยธาเพื่อจัดเตรียมข้อเสนอให้ทันภาย

ในกำหนดเวลาเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงของบริษัท บีทีเอสซี ผู้ฟ้องคดี ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขภายหลังอันเกิดจากประกาศเชิญชวนฯ ที่พิพาท ประกอบกับหากมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ย่อมจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่บริการสาธารณะ ของ รฟม. ซึ่ง บีทีเอสซี สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นๆ

“รฟม.” ปัด คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มส่อฮั้วประมูล ลุ้น ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา

นอกจากนี้การพิจารณาคุณสมบัติของ ITD Group นั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีข้อสรุปว่า เมื่อได้ผู้ผ่านการคัดเลือก แล้วหากพบว่ามีข้อสงสัยในประเด็นตามประกาศฯ ดังกล่าว จะสอบถามไปยังคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

ก่อนการประกาศรายชื่อผู้ชนะการคัดเลือกต่อไป ทั้งนี้เมื่อ ITD Group ไม่ได้เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกฯ จึงไม่ต้องดำเนินการใดๆ ซึ่งสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562