ทิ้งทวนบิ๊กโปรเจ็กต์แสนล้าน "คมนาคม"เพาะเชื้อก่อนยุบสภา

25 ก.พ. 2566 | 06:10 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2566 | 07:08 น.

"คมนาคม"ทิ้งทวนบิ๊กโปรเจ็กต์แสนล้าน เฮโลดันเข้าครม.ก่อนยุบสภา รถไฟฟ้า ทางด่วน  ทางคู่เฟส2 -แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ให้เอกชนเดินหน้าก่อสร้าง

การประกาศ ปักหมุดจัดการเลือกตั้งวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดการณ์ว่า ประมาณกลางเดือนมีนาคมนี้ จะยุบสภา และเหลือเวลาประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกไม่เกิน 3 นัด ดังนั้นต้องจับตามองว่าจะมีโครงการเร่งด่วน เข้าสู่การพิจารณาส่งท้ายในรัฐบาลชุดนี้มากน้อยเพียงใด 

โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวง"คมนาคม" ที่ภาคเอกชนคาดหวังจะให้เกิดการจ้างงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ทั้งระบบราง โครงการทางพิเศษ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง อีกทั้งอภิโปรเจ็กต์เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี อย่าง การเร่งอนุมัติแก้ไขสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

ต่อเรื่องนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระบุว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดโครงการลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งพบว่ามี 3 โครงการที่มีความพร้อมในการเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในรัฐบาลนี้ และเข้าสู่ขั้นตอนประกวดราคาจัดหาเอกชนเริ่มงานก่อสร้าง

โดยปัจจุบันสถานะของ 3 โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมเปรียบเทียบต้นทุนการลงทุน ทบทวนงบประมาณให้เหมาะสม และผลกระทบประชาชน เพื่อให้โครงการสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่มั่นใจว่าจะเป็น 3 โครงการที่มีความพร้อมเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ชุดนี้อย่างแน่นอน

ดันต่อขยายโทลล์เวย์-ทางด่วน

ส่วนอีก 2 โครงการที่จะเร่งผลักดันต่อจากโครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง  ประกอบด้วย

1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 31,375.95 ล้านบาท ปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณา  

2.โครงการสำหรับทางพิเศษ (ทางด่วน) สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR10) ระยะทาง 19.25 กม. มูลค่าโครงการฯ 33,400 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาไปลำดับถัดไป

 

ถามกกต. ชง“สีส้ม” ช่วงยุบสภา 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กรณีความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ที่ยังไม่สามารถลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนผู้ชนะการประมูลนั้น

หากศาลมีคำพิพากษาได้ข้อยุติเกี่ยวกับคดีดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นรัฐบาลที่อยู่ระหว่างรักษาการก็ยังสามารถเสนอโครงการฯต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ โดยต้องมีความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย หากกกต.เห็นว่าการดำเนินการถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายและมติครม. ก็สามารถดำเนินการได้

“การเป็นรัฐบาลรักษาการไม่ใช่ว่าเราจะดำเนินการอะไรไม่ได้ เพียงแต่จะมีการเพิ่มขั้นตอนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วยตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของประเทศหรือเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของรัฐบาลรักษาการ”

เร่งแก้สัญญาไฮสปีด

 ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รฟท.ยอมรับว่าภาพรวมโครงการนี้ล่าช้าจากแผนมากว่า 2 ปี ปัจจุบันยังอยู่ขั้นตอนพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ให้เอกชนจากผลกระทบจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลง

ทั้งนี้ รฟท.ได้เตรียมความพร้อม 100% ในการส่งมอบพื้นที่ระยะแรก ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา พื้นที่มักกะสันและศรีราชาให้แก่เอกชนแล้ว คาดว่าหากครม.อนุมัติให้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน รฟท.จะสามารถเร่งรัดในช่วงของงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 พร้อมเริ่มมีการอบรมพนักงาน เริ่มทดสอบระบบ

บริหาร 3 สนามบิน

สำหรับความคืบหน้าการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และบริหารจัดการท่าอากาศยาน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่ แทน ทย.ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์

คาดว่าจะเสนอครม. พิจารณาเห็นชอบได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ซึ่งในส่วนของเงินชดเชยจาก ทอท. เพื่อนำเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานนั้น ทย. จะได้รับรายได้มากกว่าที่เคยได้รับ เพื่อนำเงินไปดูแล และพัฒนาท่าอากาศยานแห่งอื่นๆ ต่อไป

ลุ้นทางคู่เฟส 2

ขณะที่โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ตามแผนจะพัฒนารวม 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กิโลเมตร วงเงิน 275,301 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนจะผลักดันเส้นทางช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,748 ล้านบาท ให้ครม.พิจารณาอนุมัติเป็นเส้นทางแรกภายในปี 2565 และเริ่มก่อสร้างในปี 2566

ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการเสนอโครงการได้ เช่นเดียวกับอีก 6 เส้นทาง เดิมตั้งเป้าจะทยอยเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติภายในปี 2566

ทิ้งทวนบิ๊กโปรเจ็กต์ก่อนยุบสภา