นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ระบุ ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2566 ปรับตัวขึ้นดีต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาดีขึ้น ผ่านการกระตุ้นจากมาตรการรัฐ
ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนมกราคม 2566 ขาดดุล 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับที่เกินดุล 1.1 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยในเดือนมกราคม 66 การส่งออกหดตัว 3.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.1% ส่งผลให้มียอดขาดดุลการค้า 2.7 พันล้านดอลลาร์
ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคม 66 เพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 4.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ปรับดีขึ้น
ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือนมกราคม 66 เพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือนก่อน แต่ลดลง 1.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ลดลง
ภาคบริการในเดือนมกราคม 66 ขยายตัวที่ 0.8% ทั้งในกลุ่มโรงแรม และกลุ่มร้านอาหาร แม้ในเดือนนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 2.14 ล้านคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ตามจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่ลดลงจากผลของมาตรการตรวจ RT-PCR ก่อนกลับจากประเทศไทยที่บังคับใช้ชั่วคราวในเดือนมกราคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566
ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นชัดเจนหลังทางการจีนยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 รวมทั้งนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น อาทิ มาเลเซีย และยุโรปเพิ่มขึ้นเช่นกัน
เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 66
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลงตามราคาเนื้อสัตว์ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ แต่ยังอยู่ในระดับสูง
ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นเข้าใกล้ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยแข็งค่าขึ้น ตามมุมมองที่ดีของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย จากการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด
แนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ 2566
เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยระยะต่อไปต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ผลของการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของจีน และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น
ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และการปรับขึ้นดอดเบี้ยของ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด