บขส.สบช่องสุญญากาศการเมือง ดันประมูลรถบัส EV ไร้ผลทดสอบ

04 มี.ค. 2566 | 01:20 น.

บขส. สบช่องสุญญากาศการเมือง จ่อประมูลรถบัส EV มูลค่า 597 ล้าน วงในห่วง ไร้ผลทดสอบ เจอปัญหาเพียบ หวั่นดันออกมามีความเสี่ยง โดยเฉพาะความปลอดภัย

จากกรณี คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. มีมติเห็นชอบการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า หรือ EV จำนวน 75 คัน วงเงินกว่า 597 ล้านบาท แยกเป็น รถโดยสารขนาดใหญ่ มาตรฐาน 1 (ข) ขนาดไม่ต่ำกว่า 36 ที่นั่ง จำนวน 21 คัน ระยะเวลา 5 ปี กรอบวงเงินงบประมาณ 228.26 ล้านบาท และ รถโดยสารมาตรฐาน 2 ค ขนาดไม่ต่ำกว่า 27 ที่นั่ง จำนวน 54 คัน กรอบวงเงินงบประมาณ 368.73 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะ คณะกรรมกำหนดร่างขอบเขตงาน และคณะกรรมการกำหนดราคากลางของโครงการทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างโดยเร็ว

สำหรับการเตรียมเปิดประมูลรถบัส EV ครั้งนี้ ที่น่าจับตาคือ การเปิดประมูลรถโดยสารขนาดใหญ่ มาตรฐาน 1 (ข) บขส. ได้กำหนดเส้นทางเดินรถเอาไว้แล้วใน 7 เส้นทาง ประกอบด้วย

  1. กรุงเทพฯ - คลองลาน
  2. กรุงเทพฯ - กำแพงเพชร 
  3. กรุงเทพฯ - สากเหล็ก พิษณุโลก
  4. กรุงเทพฯ - พิษณุโลก
  5. กรุงเทพฯ - บุรีรัมย์
  6. กรุงเทพฯ – แหลมงอบ
  7. กรุงเทพฯ – ตราด

 

ภาพประกอบข่าว บขส. เตรียมประมูลรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า หรือ EV

ติงโครงการผลทดสอบเดินรถไม่ผ่าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การปัดฝุ่นโครงการรถบัส EV ขึ้นมาอีกครั้ง ถือว่ามีความเสี่ยงหลายอย่าง ซึ่ง บขส. ต้องทบทวนความเหมาะสมให้ดี โดยเฉพาะการเปิดประมูลรถโดยสารขนาดใหญ่ มาตรฐาน 1 (ข) เพราะที่ผ่านมาได้มีการทดสอบการเดินรถระยะทางไกลไปแล้ว แต่ท้ายที่สุดกลับไม่มีผลทดสอบส่งกลับมายัง บขส. เพราะรถขับไปไม่ถึงปลายทาง เนื่องจากแบตเตอรี่มีไฟฟ้าไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา บขส. ได้มีการทดสอบรถบัสขนาดใหญ่ ในระยะทางเกิน 300 กิโลเมตรแล้ว ถึง 2 ครั้ง ในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แต่ผลปรากฏว่า ทดสอบไม่ผ่าน และผู้ทดสอบก็ไม่ได้ส่งผลทดสอบกลับมายัง บขส. ด้วย เหตุผลเนื่องมาจากติดปัญหาหลายอย่าง ดังนี้

รถเดินทางไม่ถึงปลายทาง

การเดินทางในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา รถไม่สามารถเดินทางไปถึงตัวเมืองนครราชสีมา ได้แบบไม่หยุดพัก เพราะแบตเตอรี่มีกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ ทำให้ต้องจอดชาร์จไฟฟ้าที่เขาใหญ่หนึ่งครั้ง ขณะที่ข้อมูลพื้นฐานของรถบัสขนาดใหญ่ จะต้องใช้ขนาดแบตเตอรี่สูงสุด 350 กิโลวัตต์-ชั่วโมง เมื่อทำการวิ่งแบบปกติด้วยความเร็ว 80 กม.ต่อชม. จะวิ่งได้สูงสุดเพียง 250 กม. แต่หากรถติด หรือจอดรอ จะทำให้การใช้แบตเตอรี่ลดลงตามไปด้วย

 

ภาพประกอบข่าว บขส. เตรียมประมูลรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า หรือ EV

ห่วงความปลอดภัยของแบตเตอรี่

ความเสี่ยงเกี่ยวกับความปลอดภัยของแบตเตอรี่ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีการใช้แบตเตอรี่ 350 กิโลวัตต์-ชม. ไว้ในรถบัส ซึ่งตัวแบตเตอรี่จะมีลักษณะต่างจากรถเก๋ง เพราะมีจุดเชื่อมต่อสายไฟหลายจุด เมื่อรถวิ่งออกไปแล้วจะเกิดแรงสั่นสะเทือนและมีความเสี่ยงให้เกิดการช็อตบริเวณรอยต่อได้ ขณะเดียวกันการใส่แบตเตอรี่หลายก้อนเข้าไปเพื่อเพิ่มความจุของกำลังไฟฟ้า ก็ส่งผลให้น้ำหนักรถเพิ่มขึ้นมากจนเกินกว่ากฎหมายกำหนดด้วย

ชาร์จหลายครั้งกระทบผู้โดยสาร

การชาร์จไฟฟ้าแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาอย่างเกือบ 1 ชม. ทำให้ผู้โดยสารต้องลงจากรถเพื่อรอการชาร์จไฟฟ้าให้เต็ม และหากเส้นทางไกลขึ้น เช่น เส้นทางไปจังหวัดบุรีรัมย์ หรือพิษณุโลก อาจต้องชาร์จไฟฟ้าถึง 2 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารแน่นอน ขณะเดียวกันการชาร์จไฟฟ้าแบบเร็ว หรือควิกชาร์จแบบ 2 หัวนั้น ปัจจุบันไม่สามารถทำได้ เพราะกำลังไฟจะออกมาไม่เต็ม 100% ด้วย

แหล่งข่าวระบุว่า ในเมื่อผลทดสอบไม่ผ่าน และผู้ทดสอบไม่กล้าส่งผลการทดสอบมาว่ามีปัญหาอะไรนั้น ไม่รู้ว่า บขส. มีความมั่นใจได้อย่างไรว่า การนำรถบัส EV มาวิ่งให้บริการ โดยเฉพาะเส้นทางไกลจะสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยต่อผู้โดยสาร และเมื่อดึงดันที่จะประมูล ก็เชื่อได้เลยว่าคงไม่มีเอกชนรายได้เข้ามาร่วมโครงการ

 

ข้อมูลที่ปรึกษา รถโดยสาร EV เส้นทางกรุงเทพฯ - บุรีรัมย์

ข้อมูลที่ปรึกษา รถโดยสาร EV เส้นทางกรุงเทพฯ - พิษณุโลก