นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า ผลประกอบการ ปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 208.37 ล้านบาท พลิกมีกำไรเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีผลขาดทุน 106.86 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 6,563.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 885% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จำนวน 5976.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,401.83% เนื่องจากในปี 2565 บริษัทสามารถจำหน่ายรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้จำนวน 1,080 คัน ส่งผลโดยตรงต่อรายได้จากการประกอบธุรกิจของกลุ่มกิจการ กำไรขั้นต้นปี 2565 จำนวน 396.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 169% ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
สำหรับธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ปี 2565 มีผลกำไรขั้นต้นจากการดำเนินงานจำนวน 319.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 245.74 ล้านบาท หรือ 334% ส่วนใหญ่มาจากการขายรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จำนวน 1,080 คัน ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และระบบซอฟต์แวร์ ในปี 2565 มีผลกำไรขั้นต้นจากการดำเนินงาน จำนวน 122.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% โดยผลการดำเนินงานของธุรกิจขึ้นอยู่ในระดับคงที่จากการแข่งขันที่สูง
ทั้งนี้ยังได้รับผลเชิงบวกจากสถานการณ์โควิด เนื่องจากลูกค้าต้องใช้บริการระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการทำงานเป็นจำนวนมาก ส่วนธุรกิจให้บริการขนส่ง ปี 2565 มีผลขาดทุนขั้นต้น จำนวน 45.04 ล้านบาท ทั้งนี้เฉพาะไตรมาส 4/2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 322 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาส 3/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 7.95 ล้านบาท ถึง 3,950% และพลิกบวกจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 16.49 ล้านบาท ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทที่ 9 เดือนขาดทุนในระดับ 114 ล้านบาท กลับกลายเป็นกำไรถึง 208 ล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทจะเดินหน้าขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ของ บริษัท เทอร์ราไบท์พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ TERA ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ คาดว่าจะสามารถซื้อ-ขายในช่วงไตรมาส 4/2566 เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบให้ TERA ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และนำ TERA เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ซึ่ง TERA จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ภายใต้โครงการ ESOP และ IPO รวมจำนวน 90 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 37.50% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ TERA
นายคณิสสร์ กล่าวต่อวว่า บริษัทเห็นควรให้มีการเสนอขายหุ้นสามัญ ให้กับกลุ่มที่เป็นผู้ถือหุ้นสามัญของบริษัท เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ที่อาจเกิดขึ้นจากแผน Spin-Off ให้มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นของ TERA ตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท (Pre-Emptive Rights) ในสัดส่วนไม่เกิน 51% ของจำนวนหุ้นสามัญ ที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยหากมีหุ้นสามัญที่เหลือจากการเสนอขาย Pre-Emptive Rights ให้ TERA นำขายหุ้นที่เหลือจัดสรรเสนอขายต่อประชาชนต่อไป
ทั้งนี้ภายหลังการ IPO บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TERA และ TERA จะมีสถานะเป็นบริษัทร่วมของบริษัท จากเดิมที่มีสถานะเป็นบริษัทย่อย และบริษัทจะยังคงสัดส่วนการถือหุ้นใน TERA ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 31.88% ของทุนชำระแล้วของ TERA ภายหลังการ IPO
อย่างไรก็ตาม TERA ประกอบธุรกิจเป็นผู้จัดจำหน่าย และให้บริการเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ขนาดใหญ่แบบครบวงจร เช่น ระบบเซิร์ฟเวอร์ จัดเก็บข้อมูล ระบบเครือข่าย และระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล เป็นต้น โดยใช้ผลิตภัณฑ์ของ Hewlett Packard (HP) เป็น Hardware หลักมีการจัดจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ร่วมกับการพัฒนาโปรแกรมการใช้งานคอมพิวเตอร์ รวมถึงการเป็นผู้วิจัย พัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์โซลูชัน ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญา และให้การให้บริการบำรุงรักษาทั่วประเทศ