นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหารบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัทช.การช่าง จำกัด (มหาชน)หรือ CK เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างรออนุมัติให้ลงนามสัญญาโครงการฯ ไม่ว่าจะรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนบริษัทก็รอ หากเคาะอนุมัติและลงนามสัญญาได้ BEM และบมจ. ช.การช่าง พร้อมทำงานทันที เพราะมีเงินทุนมีครบแล้ว เชื่อว่าสามารถทำได้จริง สำเร็จจริง คุณภาพดีจริง
ทั้งนี้บริษัทได้ตั้งเป้าหมายไว้ หากลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะสั่งซื้อรถไฟฟ้าทันที โดย รฟม. มอบหมายให้บริษัทต้องเปิดให้บริการเดินรถได้ภายหลังลงนามสัญญาราว 3 ปีครึ่ง
คาดว่าบริษัทจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถสายตะวันออกได้ก่อนกำหนด โดยใช้เวลาแค่ 3 ปี หรือประมาณปี 2569 หรืออาจจะเปิดให้บริการเร็วกว่านั้น แต่จะเป็นการทยอยเปิดให้บริการเป็นช่วงๆ จากนั้นจะเปิดครบตลอดทั้งสายทั้งสายตะวันออกและสายตะวันตกภายในปี 2572
“ส่วนการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ยืนยันว่าจากการพิจารณาเอกสารเงื่อนไขรายละเอียดการประมูล(TOR) ก่อนเข้าร่วมการประกวดราคา(ประมูล) เห็นแล้วว่ากติกาประมูลปกติ โดย รฟม. ให้เอกชนยื่นข้อเสนอในการก่อสร้างจะให้รัฐสนับสนุนเท่าใด และการเดินรถจะแบ่งผลตอบแทนให้รัฐอย่างไร โดยนำทั้ง 2 ส่วนนี้มารวมกันจนได้ผลประโยชน์สุทธิ ใครเสนอผลประโยชน์สุทธิสูงกว่าก็เป็นผู้ชนะ”
ขณะที่เงื่อนไขการประมูล เช่น ต้องมีผลงานก่อสร้างสถานีทั้งใต้ดิน และลอยฟ้าหรือลอยฟ้า TOR ระบุชัดว่าไม่ใช่ต้องมีผลงานใต้ดินอย่างเดียว ขณะที่ผลงานต้องเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ก็ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินเท่านั้น เป็นอุโมงค์ระบายน้ำก็ได้ ทั้งนี้ TOR ไม่ได้ระบุด้วยว่า ต้องเป็นรายเดียวที่มีผลงานครบทุกด้าน หากขาดผลงานด้านใดก็สามารถรวมกลุ่มกันมาได้
ที่ผ่านมาบมจ. ช.การช่างทำงานด้านเหล่านี้มากว่า 40 ปี จึงมาร่วมกับ BEM รายเดียวได้ ยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ได้กำหนด TOR เพื่อ BEM หรือ ช.การช่างเท่านั้น เป็นกติกาที่ปกติ และเปิดกว้าง ซึ่งเราก็เข้าแข่งขัน และทำตามกติกา ต้องขอความเป็นธรรม และขอกำลังใจให้เราด้วย
ด้านข้อเสนอที่ BEM เสนอให้กับรัฐนั้น ประกอบด้วย ขอสนับสนุนค่าก่อสร้าง 91,500 ล้านบาท ส่วนการเดินรถ BEM เสนอจ่ายเงินตอบแทนให้รัฐ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมทั้ง 2 ส่วน โดยคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) เป็นผลประโยชน์สุทธิ ที่ -7.8 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เจรจาต่อรองเพื่อลดราคาลงอีก แต่ BEM ยืนยันว่าไม่สามารถลดได้จริงๆ เพราะค่าก่อสร้าง วงเงิน 9 หมื่นกว่าล้านบาท รฟม. ศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 61 แต่ปัจจุบันราคาเหล็ก น้ำมัน และแรงงานเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงยืนยันราคาที่เสนอไป
ทั้งนี้เมื่อ BEM ไม่สามารถลดราคาลงได้อีก คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงเจรจาขอให้เพิ่มข้อตกลง 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้ BEM ตรึงราคาค่าโดยสารเท่ากับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ณ ปีที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 17-42 บาท เป็นเวลา 10 ปี คิดเป็น BEM ต้องรับภาระให้รัฐอีก 1 หมื่นกว่าล้านบาท จากนั้นปีที่ 11 จึงจะคิดค่าโดยสารในอัตราที่กำหนดตามสัญญาสัมปทาน เริ่มต้นที่ 20-50 บาท และ 2.ให้ BEM เข้ามารับภาระค่าดูแลรักษา (Care of Work) ส่วนตะวันออกที่กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ภายหลังจากที่ รฟม. ตรวจรับมอบงานก่อสร้างส่วนตะวันออก และส่งมอบพื้นที่ให้กับ BEM ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่ง BEM ยินดีรับทั้ง 2 ข้อตกลง