รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทล.ได้ดำเนินการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1) การศึกษาจัดทำแผนพัฒนาทางเลี่ยงเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณเขตเมืองในภูมิภาค โดยมีหน่วยงานภายในของกรมทางหลวง ,หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม, หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ คาดว่าแผนศึกษาดังกล่าวแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567
ขณะเดียวกันกรมทางหลวงได้กำหนดให้มีการประชาสัมพันธ์โครงการและการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่โครงการที่ได้รับคัดเลือก เพื่อให้หน่วยงานราชการและประชาชนในพื้นที่ ได้รับทราบข้อมูลและแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะต่อโครงการ โดยการประชุมครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายน 2566 จะเป็นการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ แนวเส้นทางและรูปแบบเบื้องต้นของโครงการฯ
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนและเขตเมืองได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาคของประเทศทำให้พื้นที่ต่างๆ มีการเจริญเติบโต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การค้าและการขนส่ง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัย
ส่งผลให้โครงข่ายทางหลวงในปัจจุบันที่มีระยะทางกว่า 53,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ ต้องรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบางเส้นทางไม่สามารถก่อสร้างเพิ่มช่องจราจรได้อีก ทำให้ผู้ใช้ทางประสบปัญหาการจราจรติดขัดไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง
“กรมฯมีความจำเป็นในการศึกษาพิจารณาวางแผนพัฒนาโครงข่ายทางเลี่ยงเมืองในพื้นที่ชุมชนและเขตเมืองหลักๆ ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอัตราการเติบโตของปริมาณการจราจรที่สูง เพื่อแยกปริมาณการจราจรที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางผ่านพื้นที่เมืองออกมา การก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเป็นการช่วยลดผลกระทบด้านการจราจรที่ติดขัดในเขตเมืองและช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่รอบนอกได้”
สำหรับแผนการศึกษาในครั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่โครงการที่เหมาะสมและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำแผนพัฒนาทางเลี่ยงเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
นอกจากนี้ขอบเขตการศึกษาแผนพัฒนาทางเลี่ยงเมือง ประกอบด้วย
1.การทบทวนการศึกษาและแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
2. การพิจารณาหลักเกณฑ์และการคัดเลือกโครงการ
3.การศึกษาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
4. การศึกษาด้านการจราจรขนส่ง
5.การศึกษาด้านวิศวกรรม
6.การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
7.การมีส่วนร่วมของประชาชน
8. การศึกษาวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐกิจ และ
9.การจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง