โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้าสู่ความอลเวง อีกครั้งเมื่อนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีคำสั่งชะลอการนำโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่างเอกชนกับรฟม.
โดยให้รอคำชี้ขาดของศาลฯในทุกคดี ท่ามกลางกระแสที่ว่า วันที่14 มีนาคม 2566 จะมีการลักไก่ผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าสู่ครม.ทั้งนี้หลายฝ่ายจับตามอง โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล
เช่นเดียวกับ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ชื่อดัง ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ตรวจสอบพฤติกรรมข้าราชการกระทรวงคมนาคมโดยเฉพาะ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มโดยกล่าวหาว่ามีเงินทอน กว่า 3 หมื่นล้านบาท รวมถึง นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า ยังไม่สามารถวางใจ กระทรวงคมนาคมได้
แม้ว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะอยู่คนละพรรคการเมืองกันก็ตาม พร้อมทั้งแนะนำว่าควรรอให้ศาลปกครองได้พิจารณาในข้อกฎหมายให้เสร็จสิ้น และควรรับฟังการท้วงติงจากภาคประชาชนให้รอบด้าน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกระบวนการและขั้นตอนการประมูลให้ถูกต้อง ไม่ควรละเลยหรือมองข้ามการดำเนินการที่ไม่ชอบมาพากล
นายสามารถระบุว่าการออกมาให้คำแนะนำเช่นนี้ เพราะไม่ต้องการให้มีช่องทางนำไปสู่การทุจริต หรือเกิดการฟ้องร้องตามมาจนโครงการต้องล่าช้าออกไปอีก เนื่องจากเห็นด้วยกับการมีโครงการดังกล่าว เพราะจะเป็นรถไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยากับฝั่งตะวันตก และคาดว่าจะมีจำนวนผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากด้วย
ต่อเรื่องนี้ นายอธิรัฐ ยืนยันว่า ต้องขอดูรายละเอียดโครงการสายสีส้มและคดีต่างๆจากรฟม.ก่อน เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องการฟ้องร้องต่อศาลทั้งหมด 3 คดี ซึ่งมีการยกฟ้องคดีไปแล้ว 1 คดี ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอีก 3 คดี หากยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องคดีจะต้องดูว่าสามารถดำเนินการอะไรได้หรือไม่
“โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะเสนอทันภายในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากทุกเรื่องสามารถชี้แจงได้และมีคำตอบสู่สังคม เราก็เดินต่อได้ หากบางประเด็นยังไม่เคลียร์อาจจะต้องรอคำสั่งของศาลก่อน คงไม่สามารถชะลอได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องดูปัจจัยหลายๆเรื่อง”
ด้านนายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหารบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัทช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CKกล่าวว่า
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างรออนุมัติให้ลงนามสัญญาโครงการฯ ไม่ว่าจะรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนบริษัทก็รอ หากเคาะอนุมัติและลงนามสัญญาได้ BEM และบมจ. ช.การช่าง พร้อมทำงานทันที เพราะมีเงินทุนมีครบแล้ว เชื่อว่าสามารถทำได้จริง สำเร็จจริง คุณภาพดีจริง
ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายไว้ หากลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะสั่งซื้อรถไฟฟ้าทันที โดย รฟม. มอบหมายให้บริษัทต้องเปิดให้บริการเดินรถได้ภายหลังลงนามสัญญาประมาณ 3 ปีครึ่ง คาดว่าบริษัทจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถสายตะวันออกได้ก่อนกำหนด
โดยใช้เวลาเพียง 3 ปี ประมาณปี 2569 หรืออาจจะเปิดให้บริการเร็วกว่านั้น แต่จะเป็นการทยอยเปิดให้บริการเป็นช่วงๆ จากนั้นจะเปิดครบตลอดทั้งสายทั้งสายตะวันออกและสายตะวันตกภายในปี 2572
“ส่วนการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ยืนยันว่าจากการพิจารณาเอกสารเงื่อนไขรายละเอียดการประมูล (TOR) ก่อนเข้าร่วมการประกวดราคา (ประมูล) เห็นแล้วว่ากติกาประมูลปกติ โดย รฟม. ให้เอกชนยื่นข้อเสนอในการก่อสร้างจะให้รัฐสนับสนุนเท่าใด และการเดินรถจะแบ่งผลตอบแทนให้รัฐอย่างไร โดยนำทั้ง 2 ส่วนนี้มารวมกันจนได้ผลประโยชน์สุทธิ ใครเสนอผลประโยชน์สุทธิสูงกว่าก็เป็นผู้ชนะ”