นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผยถึงกรณีการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ว่า ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของบริษัทฯ อย่างมาก และมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 13 ราย ทั้งในส่วนของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
สำหรับการกล่าวหาในเรื่องกระทำการทุจริตในสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการทั้งหมด 3 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง , สายสีลม สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และการต่อสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี เพื่อให้ทั้ง 3 เส้นทางไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585
"เรื่องนี้บริษัทมองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง เพราะประวัติการทำงานตนไม่เคยมีมลทิน เห็นได้จากบริษัทได้รับสัมปทานจากโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ทั้งนี้บริษัทยืนยันว่าจะไม่หยุดให้บริการเดินรถแก่ประชาชนแน่นอน"
นายคีรี กล่าวต่อว่า เรื่องนี้มีความพยายามที่จะดึงเราเข้าไปร่วมถูกดำเนินคดีด้วย แต่การดำเนินการของ ป.ป.ช.ในเรื่องนี้ มีหลายเรื่องที่สร้างความสงสัย เพราะเราเป็นนักลงทุน เป็นเอกชนที่รับจ้างทำงานบริการสาธารณะแทนรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีอำนาจหน้าที่ในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
" เราเป็นนักธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาหลายสิบปี ซึ่งกำไรที่ได้รับมาไม่ได้เอาเปรียบประเทศ แต่เราตอบแทนคืนสู่สังคม ที่ผ่านมาบริษัทเคยประมูลต่อสู้ด้วยตัวเลขที่แฟร์ๆ ไม่มีการฮั้วกับใคร เรื่องนี้มันมีขบวนการที่ต้องการให้บีทีเอสได้รับความเสียหายถึงขนาดให้ล้มละลาย"
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นยังคงเป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น และบีทีเอสยังไม่ถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีแต่อย่างใด และมีสิทธิที่จะคัดค้านเพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย และทางบริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือตามกระบวนการทางกฎหมายทุกขั้นตอน
“บริษัทฯ ยืนยันว่าการทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง ตามกฎหมาย และปราศจากการฮั้วประมูลใด ๆ”
ทั้งนี้บริษัทฯ ทราบว่าก่อนการจ้างในครั้งนี้ ทาง กทม.ได้มีการหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาในปี 2550 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยโดยสรุปว่า การที่กรุงเทพมหานคร มอบหมายให้ บริษัทกรุงเทพธนาคมดำเนินโครงการ และบริษัทกรุงเทพธนาคม มาว่าจ้างเอกชนเดินรถ โดยได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน ไม่ใช่การร่วมลงทุนกับเอกชน
นอกจากนี้การทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนี้ได้ผ่านการสอบสวน จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในปี 2555 แล้ว โดยหลังสิ้นสุดการสอบสวนในปี 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นควรไม่ฟ้องบีทีเอส
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับการกล่าวหาของป.ป.ช.นั้น เบื้องต้นทางบริษัทได้ทำหนังสือขอรายละเอียดถึงป.ป.ช.เพิ่มเติมเกี่ยวกับระเบียบตามกฎหมายของป.ป.ช.ในกรณีที่แจ้งข้อกล่าวหา
สำหรับรายละเอียดหนังสือดังกล่าว บริษัทระบุว่า ทางป.ป.ช.จะต้องสรุปสาระสำคัญและพฤติการณ์แห่งคดีว่าบริษัทกระทำผิดอย่างไรบ้าง รวมทั้งในการกล่าว หานั้นมีพยานหลักฐานหรือไม่
ทั้งนี้จากการพิจารณาข้อกล่าวหาของป.ป.ช.ต่อบีทีเอสนั้นไม่พบว่าปรากฎรายละเอียดตามข้อกล่าวหาข้างต้น ซึ่งส่วนนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ป.ป.ช.ต้องแจ้งผู้ถูกกล่าวหาทราบเพื่อที่บริษัทจะได้ต่อสู้ทางคดีต่อไป
"ทางบริษัทและทีมกฎหมายยืนยันว่า ไม่ได้มีการกระทำใดที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเราเชื่อมั่นว่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการกลั่นแกล้ง และเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อมั่น เชื่อว่าจะไม่มีการเกิดปัญหากระทำความผิด"
พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทในเรื่องของธุรกิจความเชื่อมั่น และการดำเนินธุรกิจของระบบขนส่ง แต่เราจะดำเนินการให้สุดความสามารถโดยไม่ทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อน
ส่วนปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้น ทางบริษัทพยายามที่จะเจรจากับภาครัฐเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่เป็นผล จึงจำเป็นต้องใช้ขั้นตอนตามกฎหมาย ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษาในคดีที่ 1 การฟ้องร้องค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่าจะออกมาอย่างไร
ที่ผ่านมาศาลปกครองชั้นต้นตัดสินว่าสัญญาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ร่วมกับบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด รวมทั้งหนี้สินที่ฟ้องร้องนั้นชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งภาครัฐควรจ่ายหนี้ให้กับบริษัท
สำหรับมูลหนี้ที่ภาครัฐค้างจ่ายในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับ บริษัทฯ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 รวมเป็นวงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้เงินต้นรวมดอกเบี้ย แบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถ ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาทและค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประมาณ 2.28 หมื่นล้านบาท