"บีทีเอส" จัดหนัก อัดกรุงเทพธนาคมใส่ร้าย ปมสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

17 ม.ค. 2566 | 10:51 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2566 | 18:39 น.

"บีทีเอส" ตั้งข้อสังเกต กรุงเทพธนาคมรับเงื่อนไขสัญญา หลังยื่นคำให้การศาลปกครอง ปมสัญญาจ้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยันสัญญาจ้างเดินรถถูกต้อง

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BTSC) กล่าวถึงกรณีบริษัทกรุงเทพธนาคมเปิดเผยคำให้การต่อศาลปกครองในคดีสัญญาจ้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า ปัจจุบันบริษัทได้มีการฟ้องร้องทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 คดี รวมวงเงิน 23,000 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 บริษัทได้มีการฟ้องร้องทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ครั้งที่ 2 ต่อศาลปกครอง ซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน2564-ตุลาคม2565 จำนวน 11,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมาบริษัทยังมีการฟ้องร้องทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ครั้งที่ 1 ต่อศาลปกครองซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม2562-พฤษภาคม2564 จำนวน 12,000 ล้านบาท

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าทั้งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 เฉพาะในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอเพื่อรับคัดเลือกเป็นผู้รับจ้างและการเจรจาสัญญาว่าจ้างเท่านั้น

ตลอดระยะเวลาการดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าว บริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับจ้างอย่างถูกต้องครบถ้วน ดังนั้น การเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายของบริษัทฯ จึงเป็นไปโดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งมีผลทำให้สัญญามีความชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนกรณีกระบวนการของภาครัฐที่ดำเนินการก่อนเกิดการทำสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวร่วมกันนั้น บริษัทเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าตามปกติแล้วทางกรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคม จะมีคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานอัยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ รวมทั้งข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนและถูกต้องแล้ว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า บริษัทฯ จึงขอตั้งข้อสังเกตต่อความเห็นของกรุงเทพธนาคมว่า หากกรุงเทพธนาคมได้ตรวจสอบและเชื่อโดยสุจริตตามความเห็นดังกล่าว เหตุใดกรุงเทพธนาคมยังคงยอมรับและปฏิบัติตามสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนี้ และหลังจากนี้กรุงเทพธนาคมจะดำเนินการอย่างไรหรือจะต้องหยุดเดินรถหรือไม่

"ข้อมูลที่กรุงเทพธนาคมเผยแพร่ต่อสาธารณชนนี้เป็นข้อมูลที่ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายจากการที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของบริษัท ฯ"

\"บีทีเอส\" จัดหนัก อัดกรุงเทพธนาคมใส่ร้าย ปมสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

นอกจากนี้ในกรณีคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 และคู่สัญญาได้ถือปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวมาโดยตลอด โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมชำระค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายต่อบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ ได้พยายามอย่างดีที่สุดที่จะทำให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการค้างชำระค่าจ้างดังกล่าว

โดยบริษัทฯ ต้องอาศัยเงินทุนการเงินกู้ยืมของบริษัท ฯ มาดำเนินการและชำระค่สใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้แก่ ประชาชน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของกรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วก็หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในการชำระเงินค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสาย ต่อขยายให้ถูกต้องเพื่อให้บริษัทฯ สามารถให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายแก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ปรากฏว่าแม้ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมชำระค่าจ้าง เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้แก่บริษัทฯ ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีหมายเลขแดงที่ 1926/2565 บริษัทฯ ก็ยังไม่ได้รับชำระหนี้ค่จ้างเดินรถฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายครบถ้วน และยังคงปล่อยให้บริษัท ฯ ซึ่งเป็นเอกชนเป็นผู้แบกรับภาระการเดินรถฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งหมดให้แก่ประชาชน

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงข้อมูลและประเด็นทั้งหมดที่กรุงเทพธนาคมจะให้การต่อศาลปกครองของตามที่เผยแพร่สาธารณชนแล้ว จะเห็นได้ว่ากรุงเทพธนาคมได้ชี้แจงว่าได้มีการตรวจสอบเชิงลึกแล้วและมีความเห็นว่าสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและบริษัท ฯ ใช้สิทธิไม่สุจริตในการฟ้องคดี

นอกจากนี้ยังพบว่ากรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมกลับไม่ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายและเลือกแต่จะกล่าวอ้างตามความเห็นดังกล่าว ซึ่งการอ้างความเห็นว่ายังไม่ชำระหนี้ค่จ้างเดินรถให้แก่บริษัทฯ เพราะเห็นว่าสัญญาจ้างเดินรถไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ความเห็นดังกล่าวก็ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ 356/2565 ได้เคยวางหลักไว้ว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้สัญญาเป็นโมฆะ ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาเป็นโมฆะ และคู่สัญญาฝ่ายรัฐต้องชำระหนี้ตามสัญญาให้กับคู่สัญญาฝ่ายเอกชน เพื่อเป็นการตอบแทนที่คู่สัญญาฝ้ายเอกชนได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาแล้ว

ดังนั้น การที่กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมยังคงไม่ชำระค่าจ้างเดินรถฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนี้โดยกล่าวอ้างตามความเห็นข้างต้น จะยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้นให้แก่กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่กรุงเทพธนาคมออกมาเผยแพร่คำให้การต่อศาลปกครองในคดีรถไฟฟ้าสายสีเขียว บริษัทจะมีการฟ้องร้องกรุงเทพธนาคมหรือไม่คงต้องปรึกษากับทางทีมกฎหมายก่อนว่าเป็นอย่างไร

"บริษัทฯ หวังว่ากรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมจะเร่งแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้กับประชาชนอย่างจริงใจ โดยไม่ปล่อยให้เอกชนเป็นผู้รับภาระการเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้แก่ประชาชนโดยลำพังต่อไป ทั้งนี้บริษัทฯ ยืนยัน ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายต่อไป"

\"บีทีเอส\" จัดหนัก อัดกรุงเทพธนาคมใส่ร้าย ปมสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันศาลปกครองอยู่ระหว่างอุทธรณ์ในคดีฟ้องทวงหนี้สายสีเขียว ครั้งแรก จำนวน 12,000 ล้านบาท

โดยคาดว่าภายในปี 2566 คำพิพากษาดังกล่าวจะได้ข้อสรุปแล้ว ทั้งนี้ในช่วงปลายปี 2565 บริษัทได้ยื่นศาลปกครองสูงสุดในการจัดทำคำร้องให้ศาลฯพิจารณคดีดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วนตามพ.ร.บ.ศาลปกครอง หากเรื่องนี้มีการพิจารณาล่าช้าอาจกระทบต่อการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะต่อประชาชนได้ หากศาลรับเรื่องแล้วจะมีการพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่

สำหรับค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ของบริษัท อยู่ที่ 500-600 ล้านบาทต่อเดือนต่อเนื่อง ส่วนรายได้ที่จัดเก็บในส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 15 บาท ปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ 2-3 ล้านบาทต่อวัน